วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายในงาน เวทีเสียงจากคนพิการเส้นเลือดฝอยกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการ ว่า ตามประกาศนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญ 5 เรื่อง ประกอบด้วย1.เส้นเลือดฝอยโดยไม่ทิ้งเส้นเลือดใหญ่ 2.ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง 3.นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ 4.สร้างความโปร่งใส 5.การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม นอกจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือภาคประชาสังคม หลายครั้งรัฐไม่ได้ฟังเสียงประชาชน เนื่องจากมีข้อเรียกร้องและพบปัญหามาก แต่กทม.มองว่าภาคประชาสังคมคือหัวใจของการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ เนื่องจาก ภาคประชาสังคมคือประชาชนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมืองตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามวาระเหมือนภาครัฐ ซึ่งงานในวันนี้ เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม โดยเฉพาะคนพิการ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การรับฟังข้อเสนอของกลุ่มผู้พิการในวันนี้ จะนำไปสู่นโยบายของกทม.ต่อไป

 

นายศานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีนโยบายสำหรับคนพิการ ประกอบด้วย 1.การจ้างงาน ปัจจุบันกทม.จ้างคนพิการกว่า 400 คน ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานรัฐที่มีการจ้างงานผู้พิการจำนวนมาก ประกอบด้วย และการทำงานภายในสำนักงานเขต และการทำงานที่บ้าน ทำหน้าที่ตอบคำถาม (แอดมิน) ผ่านช่องทางออนไลน์ให้สำนักงานเขตและระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ เนื่องจากคนพิการบางส่วนเดินทางไม่ได้ โดยภายในปี 2566 จะขยายการทำงานลักษณะนี้ให้ครบ50 เขต 2.การสร้างอาชีพคนพิการ เน้นการพัฒนาผู้พิการเพื่อผลิตสินค้าคุณภาพ ไม่ต้องการซื้อขายด้วยความสงสาร3.เรื่องโครงสร้างดี/ทางเดินดี กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการและคนทั่วไป 4.ส่งเสริงงานศิลปะ เนื่องจากคนพิการมีศักยภาพด้านนี้สูง แต่ขาดเวทีในการแสดงผลงาน อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายมิติที่ต้องทำ เพราะกรุงเทพมหานครมีความหลากหลาย ขอให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันพัฒนา

 

นายศานนท์ กล่าวว่า ในปี 2567 จะเน้นนโยบายด้านเรียนดีสำหรับผู้พิการ เนื่องจากกทม.ยังขาดครูสอนเด็กพิเศษครบทุกโรงเรียน ได้สั่งการให้สำนักการศึกษาจัดอบรมครูทั้ง 157 โรงเรียนที่มีผู้พิการศึกษาอยู่กว่า 4,000 คน เพื่อให้ครูทั้งโรงเรียนสามารถเป็นครูการศึกษาพิเศษได้โดยไม่ต้องแยกส่วน รวมถึงการผลักดันการจัดตั้งศูนย์ประสานงานคนพิการ เขตละ 1 ศูนย์ ทั้ง 50 เขต ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายค้นหาผู้พิการแต่ละเขต เชื่อว่าในกทม.ยังมีผู้พิการมากกว่า 100,000 คน ที่ยังสำรวจไม่พบ เพื่อนำเข้าระบบการศึกษาขั้นต้นและส่งต่อในระดับต่อไปจนถึงอาชีพการทำงาน ปัจจุบันมีผู้พิการลงทะเบียนทำบัตรแล้ว 120,000 คน โดยสามารถทำบัตรผู้พิการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. ไม่ต้องไปหลายที่เหมือนที่ผ่านมา กทม.ต้องการให้ผู้พิการลงทะเบียนทำบัตรให้มากที่สุด เพื่อนำเข้าระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน โดยมีการคาดการณ์ว่า กทม.น่าจะมีผู้พิการถึง 560,000 คน หรือประมาณร้อยละ10 ของประชากรทั้งหมด 5,494,932 คน ตามทะเบียนราษฎร ดังนั้น ผู้พิการจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่กทม.ให้ความสำคัญและต้องการให้มีส่วนร่วมมากที่สุด

 

“ผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าคนพิการต้องการอะไรคือคนพิการเอง กทม.จึงต้องการการมีส่วนร่วมจากคนพิการในการออกแบบนโยบาย โดยการรับฟังข้อเสนอ ความคิดเห็น เช่น ทางเท้าจุดใดควรปรับปรุงมากที่สุดอันดับแรก เพื่อให้กทม.พัฒนาตรงจุดตามลำดับความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ช่วยให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มแผ่นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block) ทำทางลาด การสร้างลิฟต์ เป็นต้น” นายศานนท์ กล่าว