Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์ เตือนทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 36.09-36.22 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ โดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับหลักอีกครั้ง
แม้ว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) แต่ทว่า หุ้นธีม AI ต่างสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง นำโดย Amazon +1.7% หลัง Amazon เตรียมลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาแข่งขันในด้าน Generative AI โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI ที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ก็สามารถช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อราว -0.62% ท่ามกลางความกังวลว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ หุ้นธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -3.4%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -1.9%) ต่างปรับตัวลงหนัก หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในระยะนี้ ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.55% สูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้พอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ โดยต้องจับตาทั้งปัจจัยเสี่ยงการเมืองภายในสหรัฐฯ (ประเด็นผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ เพื่อหลีกเลี่ยง Government Shutdown) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 106 จุด (กรอบ 105.5-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลักที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับหลัก (ซึ่งหากหลุดแนวรับนี้ มีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก) ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของไทยในเดือนสิงหาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ยอดการส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่อง -3.6%y/y ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้า และแม้ว่า ยอดการนำเข้าจะหดตัว -10%y/y เช่นกัน แต่ทว่าโดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) อาจขาดดุลกว่า -1.8 พันล้านดอลลาร์
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Consumer Confidence และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านหลักในระยะสั้น แถวโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า หากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยและเดินหน้าเทขายทั้งหุ้นรวมถึงบอนด์ไทยอย่างต่อเนื่อง เงินบาทก็สามารถอ่อนค่าทดสอบโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงทยอยรับรู้รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย โดยหากยอดการส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาด จนทำให้ดุลการค้าอาจไม่ได้ขาดดุลไปมากกว่า -1.8 พันล้านดอลลาร์ ตามที่ตลาดคาด ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อนึ่ง เราคงมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งกรณีที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ชัดเจน ควรเห็นทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน (สัปดาห์นี้จะมีข้อมูลสำคัญ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อ PCE) ทำให้ตลาดเริ่มไม่เชื่อใน Dot Plot ใหม่ของเฟด
โดยเรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.35 บาท/ดอลลาร์