“สมศักดิ์” มอบนโยบาย ป.ย.ป. ชูรวมกฎหมายเป็นหนึ่งเดียว พร้อมแก้ปัญหาฮั้วประมูล ด้วยการแข่งกันด้วยเวลาสร้าง ไม่ใช่ราคา
วันที่ 25 กันยายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและแนวทางความร่วมมือสู่ความสำเร็จ Partnership for Success ให้กับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. โดยมี นางชุติมา หาญเผชิญ ผอ.สำนักงาน ป.ย.ป. ผู้นำกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ผู้บริหารสำนักงาน ป.ย.ป. และ เจ้าหน้าที่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง รวมกว่า 200 คน เข้าร่วมที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดสัมมนา เพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนงาน ที่ ป.ย.ป.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ความร่วมมือสู่ความสำเร็จ” หรือ Partnership for Success โดยการทำงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบราชการ มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีระบบการบริหารจัดการภายในที่มีความซับซ้อน และมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้การขับเคลื่อนในแต่ละโครงการทำได้ยาก เพราะการเดินหน้านโยบายสำคัญของประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือ หรือ บูรณาการจากหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของ ป.ย.ป. ที่จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนงานไปสู่ความสำเร็จ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำนักงาน ป.ย.ป. มีภารกิจสำคัญ 5 ประการ คือ 1.ช่วยแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานให้ส่วนราชการ 2.การประสานความร่วมมือ ในการทำงานข้ามกระทรวง 3.การบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน 4.การปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมาย และ 5.การเร่งรัดการดำเนินงานให้เกิดผล ซึ่งที่ผ่านมา ป.ย.ป. สามารถช่วยขับเคลื่อนงานจนสำเร็จมาแล้วในหลายมิติ เช่น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ทั้งระเบียบกรมการจัดหางาน ที่เป็นประโยชน์ต่อคนต่างด้าวพ.ร.บ.โรงงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการอู่ซ่อมรถทั่วประเทศ รวมถึงกำลังผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นควัน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล ที่เป็นการรวบรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในที่เดียว การผลักดันให้ส่วนราชการ ใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และ โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านเกษตรแม่นยำ
“ตอนมารับตำแหน่งรองนายกฯที่ต้องกำกับดูแล ป.ย.ป. ผมก็พยายามนั่งอ่านหน้าที่ของ ป.ย.ป.จนเข้าใจว่า มีภารกิจที่สำคัญมาก ในการเปลี่ยนแปลงงานราชการให้มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเหมือนเป็นการช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ เพราะจะเกิดการบูรณาการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง จนสามารถลดระยะเวลาการทำงานลงได้ โดยผมมองเห็นว่า การขับเคลื่อน ป.ย.ป.ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า เป็นเรื่องที่สำคัญกับบ้านเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การทำให้เกษตรกรเข้าใจถึงผลกระทบในการเผาหญ้า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ที่จะทำให้เห็นภาพว่า จะส่งผลเป็นวงกว้าง ทั้งฝุ่นควัน มลภาวะ ดินเสีย”รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่เห็นความจริงที่เกิดขี้น จึงสามารถสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้ถึง 9 ฉบับ สมัยเป็น รมว.ยุติธรรม อย่าง กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ การปลดล็อกพืชกระท่อม ดังนั้น ป.ย.ป.ต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการปฎิรูปกฎหมาย ที่อยู่คนละทิศละทาง ให้มารวมไว้ที่เดียว เพื่อง่ายต่อการขับเคลื่อนงาน เช่น การส่งเสริมปศุสัตว์ โดยเฉพาะวัวชน ที่ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ดังนั้น ควรมารวมไว้ที่เดียวให้เกิดการดูแลตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การสร้างมาตรฐาน มอก.เอส รวมถึงการอนุญาตชนวัว ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ชนวัว และเล่นพนันได้ แต่จากที่กฎหมายกระจัดกระจาย ทำให้ภาครัฐ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ทำให้เสียโอกาสในตรงนี้ โดยถ้าหากรวมกฎหมายได้ ก็จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์ จากวัวเนื้อราคาตัวละ 3 หมื่นบาท หากเป็นวัวชน จะแพงกว่า 10 เท่า เป็นตัวละกว่า 3 แสนบาท
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ตนยังอยากให้ ป.ย.ป.ช่วยกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย เช่น สร้างกลไกให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมาก เช่น สถานที่ทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวจะมักนิยมเดินทางไปครั้งเดียว แต่อย่างกาสิโน นักท่องเที่ยวจะไปซ้ำได้ อย่าง มาเก๊า นักท่องเที่ยวนิยมไปบ่อยมาก ดังนั้น เราต้องสร้างให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ ซึ่งตนไม่ได้สนับสนุนกาสิโน แต่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนเท่านั้น ส่วนเรื่องกำนันนก ที่มีการฮั้ว ตนก็อยากให้ ป.ย.ป.เปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้หรือไม่ เช่น จากที่กำหนดราคา 50 ล้านบาท แต่ให้แข่งขันกันด้วยเรื่องเวลาการก่อสร้าง และให้มีค่าปรับแพงๆ โดยจะเป็นการแข่งกันด้วยคุณภาพ จะทำให้ช่วยลดปัญหาได้จำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการตรวจสอบที่ง่ายขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องยาเสพติด ก็สามารถบูรณาการร่วมกันได้ เพราะปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการยึดอายัดทรัพย์ มีถึง 4 ขา คือ ป.ป.ส. ปปง. ตำรวจ และสรรพากร หากรวมกันได้ ก็จะเกิดประสิทธิภาพในการปราบปรามยาเสพติด เพราะขนาดตนเป็น รมว.ยุติธรรม มีเพียง ป.ป.ส. ขาเดียว ยังสามารถยึดอายัดทรัพย์ปีล่าสุดก่อนพ้นตำแหน่งได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท จากในอดีตยึดอายัดได้เพียงปีละไม่เกิน 1 พันล้านบาท ดังนั้น ตนเชื่อว่า นายกฯที่กำกับดูแลถึง 3 ขา จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ โดยตนอยากให้ ป.ย.ป.ทำกฎหมายเชื่อมหน่วยงานแบบนี้ ให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก