วันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนในช่วงนี้ ว่า ที่ผ่านมาพบฝนตกหนักที่เขตบางนา ประมาณ 143 มิลลิเมตร ทำให้ไฟดับที่สถานีสูบน้ำคลองบางนากว่า 3 ชั่วโมง ทำให้น้ำท่วม ภายหลังการไฟฟ้านครหลวงแก้ไขไฟฟ้าดับทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ปัจจุบันได้สั่งการให้สำรวจทุกจุดที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำ เช่น ความเสี่ยงเรื่องต้นไม้ใหญ่ล้มทับหม้อแปลง ไฟดับ และการสำรองพลังงานเพื่อสูบน้ำ สำหรับเขตบางนามีจุดอ่อน 2 จุด คือ 1.ซอยบางนา 30 ซึ่งมีลักษณะคอคอด เนื่องจากแนวคลองบางนาก่อนถึงซอยบางนา 30 มีขนาดกว้าง แต่เมื่อถึงช่วงซอยบางนา 30 คลองบีบตัวเหลือ 3 เมตร ก่อนตัวคลองจะขยายตัวออก ทำให้น้ำเอ่อล้นจนสูบออกไม่ทัน 2.คลองบางอ้อ ช่วงซอยสุขุมวิท103 ถึง 66/1 เป็นช่วงลอดใต้ทางด่วน มีลักษณะคอขวด จึงได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือ

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนเขตลาดกระบัง สิ่งสำคัญคือการควบคุมปริมาณน้ำที่คลองประเวศฯ อาจมีน้ำท่วมบางพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ปีนี้ปริมาณฝนน้อย แต่ตกหนักบางพื้นที่ ประมาณ 140 มิลลิเมตร เช่น ที่บางนา ส่งผลให้น้ำท่วมขัง ดังนั้น จึงได้สั่งการสำนักการระบายน้ำให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำตามจุด รวมถึงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงทั้งหมด ที่ผ่านมาเขตบางนาพบปัญหาคือ ความช่วยเหลืออยู่ที่เขต เมื่อน้ำท่วมถนนสรรพาวุธทำให้ออกมาดำเนินการยาก จึงต้องกระจายความช่วยเหลือ ให้ทุกเขตมาช่วยกัน เนื่องจากฝนตกเป็นหย่อม และยังต้องเฝ้าระวังอีก 3 วันข้างหน้า คาดว่าฝนมากขึ้น และมีพายุ โดยกทม.เตรียมพร่องน้ำในคลองทุกจุด จุดที่เฝ้าระวัง คือ เขตบางนา ลาดกระบังรวมถึงดอนเมืองและบางเขนบางจุด ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่น้ำไม่ท่วม จะท่วมเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกหนักจริง ๆ อาจมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสาเหตุที่น้ำท่วมซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุข) เนื่องจาก กทม.ผลักดันน้ำ(สูบ)ผ่านซอยสุขุมวิท 66/1 ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนบริเวณดังกล่าว เพราะน้ำระบายไม่ทัน ทำให้ชาวบ้านย่านนั้นมาล้อมสถานีสูบน้ำไม่ให้สูบน้ำต่อ เมื่อหยุดสูบน้ำทำให้น้ำท่วมซอยสุขุมวิท 103 จึงสั่งการให้สร้างเขื่อนเพิ่มความจุของคลองเพื่อไม่ให้น้ำล้นท่วมย่านดังกล่าว หรือแก้ไขเบื้องต้นด้วยการเรียงกระสอบทรายเพิ่มเติม ปัญหาขณะนี้อยู่ที่การประสานงาน เนื่องจากบางครั้งไม่เห็นฝนในเรดาร์ระยะไกล แต่มีการก่อตัวในพื้นที่และตกหนักภายใน 1 ชั่วโมง สิ่งสำคัญคือการประสานงานระหว่างสำนักการระบายน้ำและศูนย์พยากรณ์อากาศรวมถึงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งต้องประสานงานอย่างรวดเร็ว

 

ด้านนายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า ปีนี้มีความกังวลเรื่องน้ำน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำใน4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีเพียง 31% ต้องรอว่าอาจมีพายุเข้า 1-2 ลูก เพื่อบรรเทาสถานการณ์และเพิ่มปริมาณน้ำประมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันมีประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือน ต.ค นี้ อาจต้องเริ่มบริหารจัดการทบทวนแนวทางต้านภัยแล้ง ปัจจุบันคาดว่าปริมาณน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีเพียงพอ และสามารถส่งน้ำมาช่วยฝั่งตะวันออกได้ ทั้งนี้ หากมีพายุเข้าอีก 1-2 ลูก จะส่งผลดีต่อกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ไม่ต้องรับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มลุกล้ำ เนื่องจากปีนี้ยอมรับว่าปริมาณฝนภาพรวมมีน้อย แต่มาตกที่กรุงเทพมหานครบางส่วน