"เศรษฐา คุยประชุมสมัชชาสหประชาชาติประสบผลสำเร็จ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ร่วมลงทุนหลายพันล้าน เตรียมบินรัดฟ้าถกเอเปกต่อ เปิดโอกาสนักลงทุน "ไทย-ต่างชาติ" เจรจาเปิดประตูการค้า
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ว่า การเดินทางครั้งนี้มีภารกิจเยอะ ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยทำให้ภารกิจ 4 วัน ผ่านไปได้ โดยมีการพบปะผู้นำหลายประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์ 5 ครั้ง พบกับองค์กรต่างๆ 2 องค์กร ได้พบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งเทสล่า ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล ซิตี้แบงก์ เจ.พี.มอร์แกน Global ZAC เอสเต ลอเดอร์ บริษัทเหล่านี้สนใจมากลงทุน บางแห่งมาลงทุนแล้วในรูปแบบต่างๆ ที่ประเทศไทย หน้าที่ของตนคือไปประกาศให้คนรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมและยินดีที่จะให้บริษัทเหล่านี้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้นได้พบกับตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์ก ที่มองเห็นลู่ทางจะให้บริษัทของไทยไปจดทะเบียนที่ตลาดนิวยอร์ก เพราะไม่เคยมีบริษัทใดไปจดทะเบียนเลย หวังว่าในปีนี้จะได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กสัก 1 บริษัท
ทั้งนี้ยังได้พบปะกับประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ควบคุมฟุตบอลทั้งหมด ได้พูดคุยกันถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อาเซียนในปี 2032 หรืออีก 9 ปี เป็นแผนที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก้าวแรกคือ เราอยากได้รับการสนับสนุนจากฟีฟ่าให้ช่วยดูฟุตบอลรากหญ้า จากเดิมที่เคยให้การสนับสนุนปีละ 2.5 แสนเหรียญต่อปี ตอนนี้เป็นปีละประมาณ 2 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก ทำให้คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ไปถึงจุดที่ควรจะเป็น
นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะที่เรื่องของยูเอ็น ในภาวะที่มีการแข่งขันและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความแตกแยกค่อนข้างมาก เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา ธีมของยูเอ็นในปีนี้คือให้มาดูเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 17 ข้อ โดยกว่า 190 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่เห็นว่าควรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งตนได้ประกาศไปว่าไม่ใช่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือดที่เราต้องให้ความสำคัญ ตลอดจนเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหากมีสงครามระหว่างประเทศมากจะทำให้มีผู้เดือดร้อน มีผู้อพยพลี้ภัย ต้องดูและให้ความเป็นธรรม ที่สำคัญ จุดยืนที่ตนไปประกาศในเวทีนี้คือ ไปประกาศจุดยืนว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยึดมั่น ช่วยผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และการดำเนินการเศรษฐกิจพอเพียง และยังได้นำเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอัพเกรด ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกใช้บริการสาธารณสุขของรัฐได้อย่างสมเกียรติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องดูแลและป้องกันในอนาคต
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่างประเทศที่จะมาลงทุนยังมีความกังวลกับสถานการณ์ในประเทศ หรืออุปสรรคใดหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ความกังวลเรื่องนี้ลดหายไปเยอะ และคิดว่าคงไม่มีเรื่องนี้แล้ว แต่จะมีเรื่องกฎหมายบางข้อ และการอำนวยความสะดวกในการธุรกิจ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมทั้งบีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศต่างไปช่วยกันขยายความว่าเราพร้อมสำหรับการลงทุน พร้อมที่จะรับฟังความเห็น อะไรทำได้จะทำก่อน อะไรที่ต้องแก้ไขกฎกติกา จะมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง
เมื่อถามว่า ธุรกิจอะไรที่ต่างชาติให้ความสนใจมาลงทุนมากที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เช่นเทสล่าที่จะมาดูเรื่องของการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ขณะที่ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล มาดูเรื่องการทำดาต้า เซนเตอร์ ที่จะมีการลงทุนสูงมาก ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อรายสำหรับการลงทุนขั้นต้น เมื่อถามว่า อุปสรรคด้านกฎหมายต่อการลงทุน เรื่องใดสำคัญที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เราไม่ได้ไปค้าขายระหว่างประเทศมานาน ทำให้บางบริษัทมีความกังวลเวลาที่มาลงทุน จะมีกฎที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ของเราอาจยังไม่มีการดูแลตรงนี้ ซึ่งต้องนำไปพิจารณาดูแลรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม
ต่อข้อถามว่า จากการไปพูดคุยกับบริษัทรายใหญ่ได้ประเมินมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยประมาณเท่าไหร่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเมินได้ลำบาก เพราะภาคอุตสาหกรรม เช่น เทสล่า ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล การลงทุนขั้นต้นประมาณ 5 พันล้านเหรียญ แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาจจะทำให้เกิดการลงทุนที่สูงมากหากมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย มีโอกาสที่บริษัทเหล่านั้นอาจเผยแพร่ความน่าอยู่และตัวเลขเศรษฐกิจ ความเจริญของประเทศไทย และนำบริษัทอื่นมาลงทุนในไทย
ในการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้น อาจจะเชิญบริษัทขนาดกลางเพื่อเปิดโอกาสได้ไปเสนอตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนข้ามชาติที่เราไปลงทุนในประเทศเขา หรือเขามาลงทุนในประเทศเรา เป็นการเปิดช่องทาง สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน
สำหรับการเดินทางไปประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในช่วงเดือนพ.ย. ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการนัดหมายกับบริษัทอีกหลายบริษัท และจะมีการเปิดให้บริษัทของนักธุรกิจไทยที่มีความประสงค์ที่จะไปเปิดประตูการค้ากับต่างประเทศไปพบปะกับบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าตนไปพบกับบริษัทใหญ่ๆ 2 ภาคส่วนคือภาคอุตสาหกรรมกับภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นภาคสำคัญหากบริษัทต่างประเทศจะเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ เขาก็ต้องการการสนับสนุนด้านการเงินเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการลงทุนข้ามชาติ เช่น ไทยไปสหรัฐฯ หรือ สหรัฐฯ มาไทย ก็ต้องการตัวกลางที่มีความเข้มแข็ง มีความรอบรู้ทุกๆ เรื่องในแง่ของการเงิน ฉะนั้น สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็น Citibank และ J.P. Morgan มีใบอนุญาตครบ
"ผมได้ไปพบปะกับผู้ที่เป็นเบอร์หนึ่งเรื่องธุรกรรมการเงินของโลก ก็ยืนยันว่า J.P. Morgan มี การได้รับอนุญาต ประกอบกิจการ(license) ครบ แต่การทำงานยังไม่ขยายใหญ่ที่สุดเท่าไหร่ ซึ่งท่านก็บอกว่าจะไปดูให้ว่าสามารถทำอะไรได้ต่อ ส่วนซิตี้แบงก์ที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนานก็จะกลับไปดูด้วยว่าจะสนับสนุนตรงไหนได้บ้าง ส่วน Goldman Sachs เองก็ไม่เคยตั้งบริษัทในไทยเลย เป็นแค่บริษัทเล็กๆ แต่ส่วนมาก โอเปอเรต จากสิงคโปร์เป็นหลัก ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกัน ทางผู้บริหารก็ยืนยันว่าหากมีการลงทุนข้ามชาติเกิดขึ้นเยอะก็มีความคุ้มค่าที่ในอนาคตจะมีการมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย" นายเศรษฐา กล่าว