"นายกฯ" ยันไม่กังวลเม็ดเงินนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต"  ยอมรับห่วงพื้นที่กันดาร แจงรัศมีใช้จ่ายไม่อยากให้กระจุกตัวหากต้องขยายระดับจังหวัด ด้าน"นิด้าโพล" ระบุกลุ่มข้าราชการ ไม่เห็นด้วยจ่ายเงินเดือน 2 รอบ แต่เห็นด้วยเงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่น

     เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท หลังเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น ว่า เดี๋ยวคงมีการรายงานต่อเข้ามา และวันนี้ตนเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ ยังไม่ได้รับการรายงาน เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนให้เพิ่มรัศมีพื้นที่การใช้เป็นระดับจังหวัด นายเศรษฐา กล่าวว่า ถือเป็นข้อเป็นห่วงใยที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ถ้ากำหนดให้ใช้ในจังหวัด บางทีการใช้จ่ายก็จะกระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง อยากจะให้อำเภอที่กันดารได้มีโอกาสแจ้งเกิดบ้าง ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการกำลังพิจารณากันอยู่ ในรายละเอียดไม่ต้องเป็นห่วง เมื่อถามต่อว่า ณ เวลานี้ ไม่มีข้อกังวลเรื่องเม็ดเงินจริงที่จะใช้ในนโยบายนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ไม่ครับ ไม่เคยมีความกังวล

     วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง เงินเดือนข้าราชการ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.66 จากกลุ่มข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการ

     โดยผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความเพียงพอของเงินเดือนที่ได้รับ ไม่รวมรายได้พิเศษอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย กับการใช้จ่ายและการมีเงินเก็บ ในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและไม่มีเงินเก็บ  รองลงมา ร้อยละ 28.32 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บ และร้อยละ 26.87 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ไม่มีเงินเก็บ

     ด้านความเพียงพอของเงินเดือนที่ได้รับ เมื่อรวมรายได้พิเศษอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย กับการใช้จ่ายและการมีเงินเก็บในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.76 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บ รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ไม่มีเงินเก็บ ร้อยละ 22.90 ระบุว่า ไม่มีรายได้พิเศษอื่น ๆ (ที่ถูกกฎหมาย) และร้อยละ 21.22 ระบุว่า ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและไม่มีเงินเก็บ

     สำหรับการมีหนี้สินจากการกู้ยืม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.35 ระบุว่า มีหนี้สินกับสถาบันทางการเงิน รองลงมา ร้อยละ 43.36 ระบุว่า มีหนี้สินกับสหกรณ์ ร้อยละ 25.57 ระบุว่า ไม่มีหนี้สินใดๆ และร้อยละ 3.66 ระบุว่า มีหนี้สินนอกระบบ (รวมถึงการกู้ยืมเงินจากเพื่อน ญาติพี่น้อง)

     ส่วนความคิดเห็นต่อแนวคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 71.30 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 11.83 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 8.32 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 7.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

     ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็น ต่อนโยบายเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 57.86 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 7.94 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ