"เศรษฐา" อารมณ์เสีย ฉุนสื่อปมดึง "ทักษิณ" เป็นที่ปรึกษา ไล่นักข่าวไปแกะเทปฟังดูให้ดี ลั่นไม่ได้บอกจะตั้ง แค่ปรึกษาเหมือนขรก.ผู้ใหญ่ จุรินทร์ เตือนรัฐบาล ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลอกฉบับปี40 เป็นต้นแบบ เสี่ยงปลุกผี "รัฐบาลกินรวบ" หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ด้านอดิศร ติง กมธ.สิทธิฯ สภาสูง เชิญ ยธ.-ราชทัณฑ์ สอบมาตรการรักษา 'ทักษิณ' ขออย่าโยงเป็นเรื่องการเมือง
วันที่ 24 ก.ย.66 ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณีที่มีการตีความการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ในการตั้ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษา ว่า ทุกท่านต้องแกะเทปดู ไม่ได้บอกว่าตนไม่ได้บอกว่าจะตั้งใช่ไหม ตนบอกว่าถ้ามีเรื่องอะไรถ้าจะปรึกษาก็ปรึกษาได้ เหมือนกับตนปรึกษากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่อาจจะเกษียณไปแล้ว หรืออดีตนายกฯ ตนเองได้ไปกราบ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ และนายสมชายวงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯมาแล้ว
"ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก และเพิ่งเข้าสู่วงการการเมือง ใครมีความรู้ความสามารถที่ดี ผมก็พร้อมที่จะปรึกษา ก็พูดแค่นั้น ก็แค่นั้น ผมก็พูดแค่นั้น แค่นั้นใช่ไหม บลูมเบิร์กก็แปลแค่นั้นใช่ไหม อย่าตีความไปกว้างกว่านั้นเลย เพราะเรื่องนี้จะก่อให้เกิดประเด็นโดยไม่ใช่เหตุ" นายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตีความกันไปแบบนั้น นายเศรษฐา กล่าวอย่างอารมณ์ที่ฉุนเฉียว ว่า คุณตีความ คุณอย่าตีความสิครับ คุณฟังที่ผมพูดสิครับ เรื่องอื่นมีอะไรไหมครับ ก่อนที่ นายเศรษฐาจะเดินทางกลับทันที
นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ อยากทาบทามมาร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่า ขอบพระคุณมากที่ยังนึกถึง แต่ท่านอาจจะไม่นึกถึงก็ได้แต่มีสื่อไปถามนำท่านก่อน แต่ก็ขอบคุณที่นึกถึง ซึ่งงานที่ทำเป็นงานใหญ่และใช้เวลาและยุ่งยาก และข้อสำคัญอยู่กับความเห็นที่แตกต่าง ที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง ตนพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีกเพราะการไปทำงานนี้ คือเป็นไปบุคคลสาธารณะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราวได้ไหม นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ด้วยความยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้างก็คือรัฐมนตรีหน้าเก่าๆ ที่เคยอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ ท่านก็โทรมาถามแบบที่สื่อสอบถามว่าสมัยนั้นสมัยนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ถามว่าเอ๊ะควรจะอย่างไร เพราะท่านตัดสินใจเองได้ และถามเรื่องในอดีต อาทิ มติครม.เก่าๆ ซึ่งก็มีคนโทรมาถามบ่อยๆ ทุกวัน
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติและกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ว่า หลักการในเรื่องของการไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน และล่าสุดตนก็ได้แสดงจุดยืนในการประชุมรัฐสภาตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลอีกครั้งชัดเจนแล้ว แต่ที่ต้องทักท้วงไว้เสียแต่ต้นคือหลักคิดในเรื่องของการที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นแบบนั้น ตนขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกฯ ทำได้ยากมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้เลย
ถ้านายกฯ ตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 3 ใน 5 คือเกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป เพราะ รธน.40 ระบุว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้ ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียง หรือ 2 ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกฯ ได้เลยตลอดอายุรัฐบาล นำไปสู่การมีรัฐบาล "กินรวบ" ดังที่เคยประสบในบางยุค เพราะนายกฯ อาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญ40 ก็ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ จนนำไปสู่การใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารเกิดรัฐบาล "กินรวบ" จนต้องแก้ไขในปี 2550 ในที่สุด
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ถ้าใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เศรษฐาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง ก็จะไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้ ถ้านายกฯ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ล้มเหลวและเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมาในอนาคต จะเท่ากับพาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้อีก จึงควรคิดกันให้รอบคอบ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าจะตั้งธงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯแล้ว ซึ่งตนขอพูดเสียก่อนเลยว่าไม่เกี่ยวกันและยังไม่ใช่เวลา เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ตนเพียงแต่ต้องการทักท้วงไว้เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศและหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคต จะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องนี้ชัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พรรคพร้อมให้การสนับสนุน แต่จะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่สำคัญการนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันเพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ประสบผลสำเร็จได้
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ตนยังมองการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของรัฐบาล โดยหลักถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงโดยจะต้องไม่มีการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่ควรตั้งท่านานจนเกินไป และการเตรียมการเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำประชามติมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความละเอียดรอบคอบรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่ผ่านมาได้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย ร่างฉบับที่ 1 เป็นการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เรื่องเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บรรจุเรื่องสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก
ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ สว.ในการแก้รัฐธรรมนูญ ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกฯ และยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบการพิจารณาจากรัฐสภา
นายราเมศ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน ได้ตั้งเรื่องตรวจสอบฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงติดตามดูแลนักโทษในระบบของกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นสิทธิของกรรมาธิการที่จะตรวจสอบ แต่หวังว่าสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้ใหญ่จะคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่ควรมีประเด็นการเมืองพ่วงไปด้วย
ผมมั่นใจว่าการรักษาตัวนอกเรือนจำของนักโทษนั้น กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์จะดูแลให้เป็นไปตามความจำเป็นในแต่ละรายหรือแต่ละกรณี" นายอดิศร กล่าวและว่า ขณะนี้ โลกพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันต่อไป และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ได้ย้ำถึงการดึงศักยภาพเพื่อพัฒนาประเทศ ควรเลยจุดที่จะเอาความหลังเก่า หรือความคิดตกค้างเรื่องที่อยู่ในใจมาพูด เพราะโอกาสเดินหน้าต่อไปจะลำบาก Wในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน ควรเป็นหลักชัยให้กับบ้านเมืองจะดีกว่า