นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กล่าวถึงผลการประชุมสรุปแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ผู้บริหาร กทม. ไปเจรจากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) เรื่องการแยกสัญญาส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ออกจากสัญญาค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามข้อกำหนดในสัญญาที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำไว้กับ บีทีเอส ข้อ 6.2 ระบุว่า ส่วน E&M สามารถแยกออกมาดำเนินการได้นอกเหนือจากภาระหนี้ส่วนอื่น (ส่วน O&M ส่วนโครงสร้างและค่าจ้างเดินรถ) หากมีการชำระหนี้แล้ว สามารถโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม.ได้

 

หากฝ่ายบริหาร กทม.ดำเนินการตามข้อแนะนำได้จะเกิดประโยชน์กับ กทม. เนื่องจากปัจจุบัน กทม.เสียดอกเบี้ยส่วน E&M วันละ 3 ล้านกว่าบาท จากหนี้ทั้งหมดประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท (พ.ค.-ก.ย.66) หากเจรจากับบีทีเอสเรื่อง เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับได้ กทม.จะไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ส่วนดังกล่าว ส่วนข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ เรื่องเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคด ซึ่งยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ให้พิจารณาเริ่มเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 62 บาท

 

นายนภาพล กล่าวว่า ผลประชุมดังกล่าวเป็นข้อแนะนำที่จะรายงานให้สภากทม.ทราบในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เมื่อผู้บริหาร กทม.รับทราบและนำข้อแนะนำดังกล่าวไปเจราจากับบีทีเอสเรียบร้อยแล้ว จึงจะนำเสนอกระทรวงมหาดไทยก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป เพื่อให้ครม.มีมติว่าจะให้ กทม. ดำเนินการอย่างไร เช่น จำนวนหนี้ดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ที่จะชำระ หรือมีความเห็นชอบเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่ ซึ่งต้องให้ครม.ลงมติ สภากทม.ไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะมีอำนาจเพียงให้แนวทางเท่านั้น ไม่มีอำนาจกำหนดค่าชำระ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดในสมัยของสมาชิกสภากทม.ชุดปัจจุบัน สิ่งสำคัญของการเจรจากับบีทีเอส คือ ต้องการให้บีทีเอสหยุดดอกเบี้ย ค่าปรับ ในช่วงระหว่างการเจรจา รวมถึง สามารถลดเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าปรับให้ กทม.ได้เท่าใด ซึ่งผู้บริหาร กทม.ต้องเป็นผู้ไปเจรจา