วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงผลสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว จากการประชุมคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. ว่า ที่ประชุมมีมติให้ฝ่ายบริหาร กทม.ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) คาดว่าจะส่งเรื่องเข้าสภากทม.บรรจุวาระวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ จะรายงานความเห็นคณะกรรมการฯ ต่อสภากทม. โดยสรุปว่า ให้ฝ่ายบริหารกทม.ไปดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) เพื่อรับมูลหนี้ส่วน E&M มาดำเนินการ
นายวิศณุ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหนี้อยู่ 3 ส่วน คือ 1.ค่าก่อสร้างงานโยธา กำลังอยู่ระหว่างขอรัฐบาลสนับสนุน 2.ส่วนE&M แต่เดิมขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน 3.ส่วนค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) กทม.พร้อมจ่าย แต่ยังติดปัญหาเรื่องคดีค้างในศาล ในส่วนหนี้ E&M มีมติจากคณะกรรมการวิสามัญฯ ให้กทม.รับหนี้ส่วนนี้มาดำเนินการแล้ว ด้วยเหตุผลว่า เป็นสิ่งของที่พร้อมส่ง ถ้าไม่รับจะมีเบี้ยปรับต่อเนื่อง รวมถึง กทม.ได้รับใบแจ้งหนี้มาแล้ว หากไม่จ่ายจะถูกฟ้อง ดังนั้น กทม.สามารถรับมาจ่ายได้ แต่ต้องผ่านความเห็นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เพราะหนี้ทั้ง 3 ก้อน เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาของคณะกรรมการ ภายใต้คำสั่ง คสช. ม.44 ซึ่งเจรจาไว้ว่ายกหนี้ 3 ก้อนให้กทม.ทั้งหมด และขยายสัมปทาน ดังนั้น กทม.จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอกลับเข้าครม.เพื่อให้ทราบว่าหนี้ทั้ง 3 ก้อนมีมูลค่าเท่าใด ส่วนหนี้E&M กทม.ยินดีจ่าย แต่การจ่ายต้องให้ครม.รับทราบและตกลงก่อน เนื่องจาก หากมีมติให้ต่อขยายสัมปทาน กทม.ก็ไม่ต้องจ่ายหนี้ดังกล่าว
นายวิศณุ กล่าวว่า ในการทำบันทึกข้อตกลงกับบีทีเอส จะมีรายละเอียดเรื่องการพักหนี้ระบุไว้ โดยมีเงื่อนไขให้บีทีเอสหยุดคิดดอกเบี้ยระหว่างเจรจา หากกทม.รับปากว่าจะจ่ายหนี้ส่วน E&M
ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วมีแนวโน้มที่สภากทม.จะอนุมัติชำระหนี้ส่วน E&M จำนวนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาทหรือไม่นายวิศณุ ตอบว่า ไม่รู้ แต่จากการประชุมดังกล่าวมีตัวแทนสภากทม. และสมาชิกสภากทม.หลายคน ลงมติเห็นด้วยในแนวทางข้างต้น แต่ท้ายที่สุดมีการแนบความเห็นว่าไม่อยากเห็นชอบให้นำเงินไปจ่าย เพียงต้องการรับทราบแนวทางเท่านั้น ขณะที่กทม.ต้องการให้เห็นชอบในการอนุมัติจ่ายหนี้ ซึ่งยังสรุปไม่ได้ว่า การที่คณะกรรมการวิสามัญฯเห็นด้วยแต่ไม่เห็นชอบ ความหมายคืออะไร ในฐานะฝ่ายบริหารกทม. ตนอยากให้นำเรื่องเข้าสภากทม.เป็นญัตติเพื่อพิจารณาเห็นชอบ แต่มติคณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องการเพียงนำเรื่องรายงานให้สภากทม.ทราบเท่านั้น ส่วนตัวคาดว่า แนวโน้มสภากทม.ไม่ยอมอนุมัติเงินจ่ายหนี้ เพราะไม่อยากรับผิดชอบ
นายวิศณุ กล่าวว่า ฝ่ายบริหารกทม.ทำดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยเป็นการทำให้ทุกคนทุกฝ่ายรับทราบตามขั้นตอนกระบวนการ และฝ่ายบริหารกทม.ได้ปฏิบัติตามความเห็นของสภากทม.ตามขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ตาม จะพยายามผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่วาระพิจารณาเพื่อเป็นญัตติในสภากทม.ต่อไป