นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 110 ล้านหุ้น  มูลค่าที่ตราไว้ หรือพาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละไม่เกิน 27.50 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ รวมเป็นทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อจะนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดย JPARK มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมามากกว่า 20 ปี สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเภทได้อย่างครบวงจร ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จะผลักดันให้สามารถขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต ด้วยทีมงานที่มีความพร้อมและประสบการณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญในธุรกิจ

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายของบริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK  กล่าวว่า สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ของ JPARK ในครั้งนี้จำนวน 110 ล้านหุ้น ได้มีการกำหนดราคาหุ้น JPARK ที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 3.80 บาท โดยกำหนดเปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2566 และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566  ในหมวดธุรกิจบริการ ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “JPARK”

“JPARK เป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจบริการน่าสนใจ ซึ่งการกำหนดราคาไอพีโอเป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากลักษณะธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องทั้งจากธุรกิจบริหารพื้นที่จอดรถและรับจ้างบริหารพื้นที่จอดรถ ประกอบกับความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่น และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 22-25% อัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับ 11-12%  รวมถึงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจึงมั่นใจว่า JPARK จะเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” 

นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS) โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 28,000 ช่องจอด โดยมีทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ-จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าแหล่ง CBD บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยภายหลังจากการระดมทุน JPARK มีแผนที่จะลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

“หลังจากการแต่งตั้งอันเดอร์ไรท์เตอร์ และกำหนดราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่จากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย JPARK มีเป้าหมายในการลงทุนขยายอาคารจอดรถเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ JPARK อย่างมั่นคง”

ในขณะที่ผลประกอบการของ JPARK ในปี 2563-2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 286.17 ล้านบาท 243.61 ล้านบาท และ 455.09 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท ขาดทุน  10.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 55.05 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในช่วงปี 2563 จนถึงกลางปี 2565 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown จากสถานการณ์ COVID-19 จึงส่งผลให้รายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2565 เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับการที่บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ และธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2565 บริษัทมีรายได้ และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น