อาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพในนามทีม BU ROBOT STUDIO ร่วมกันดีไซน์ไอเดียนวัตกรรมโดยการพัฒนาในส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มจัดการอาคารอัจฉริยะลูก้าคอร์ (LUCA Core: The Next Generation of Building Automation Platform) เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนได้อย่างหลากหลาย ซึ่งนับเป็นการจุดประกายไอเดียนี้ทำให้เกิดหนึ่งในไอเดียสุดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์การใช้งานจริง เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันกระแสของโลกดิจิทัล ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะของโลกมัลติเวิร์ส (Multiverse) ที่กำลังมาแรงใครๆก็ต้องพูดถึง จึงเกิดจุดเริ่มต้นต่อยอดนวัตกรรม สู่“น้องไดมอนด์ หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจริยะสำหรับหอสมุด” ตัวช่วยประจำสำนักหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์

และจากจุดเริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการทั่วไปสู่หอสมุด ที่ได้ร่วมกันดีไซน์ต่อยอดไอเดียนวัตกรรม เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานภายในอาคารให้สามารถประหยัดพลังงาน ตรวจสอบสถานะการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย ต้อนรับคน และพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์บริการภายในอาคาร พาทัวร์สถานที่  ให้หุ่นยนต์สามารถเดินส่งเอกสารภายในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยพื้นผิวจราจรบนท้องถนนอาจไม่เหมาะ จึงปรับเป็นเดินส่งเอกสารภายในอาคาร ก่อนจะพัฒนาให้หุ่นยนต์บริการที่หอสมุดในปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในไอเดียที่อยู่ภายในแพลตฟอร์มจัดการอาคารอัจฉริยะลูก้าคอร์ให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงเพื่อขานรับกระแสของโลกดิจิทัลที่กำลังมาแรง  

ไอเดียในสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้เกิดจากอะไร อ.ณัฐปคัลภ์ ลิไชยกุล อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ว่า “เมื่อได้รับหุ่นยนต์บริการเทมี่ (temi) มาจากบริษัท ซัลวาทอร์ เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์ที่ร่วม MOU กับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงไม่อยากปล่อยให้เป็นเพียงหุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการทั่วไปเลยชวนนักศึกษาประจำห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ได้ลองฝึกคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานจริงที่หลากหลายความต้องการ

ทั้งนี้คณะวิศวกรรมได้รับโอกาสต่อยอดไอเดีย จากสำนักหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ในการหาแนวทางร่วมกันว่าจะสามารถนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เลยเกิดเป็นไอเดีย “น้องไดมอนด์ หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจริยะสำหรับหอสมุด” โดยให้นักศึกษาพัฒนาโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการจากผู้ใช้งาน โดยนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน และฝึก Creative Engineering เพื่อให้ได้เรียนรู้เรื่องของวิศวะพร้อมผลักดันให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

นางสาวรัตนพร ชัยที (เบียร์) นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ Head Project/Senior Service Robot Ambassador เล่าให้ฟังว่า “พวกเราเริ่มต้นด้วยการระดมความคิดของแต่ละคน โดยมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับห้องสมุด แล้วนำความคิดเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการรักษาความปลอดภัยโดยหุ่นยนต์, การร่วมกันพัฒนาโปรแกรมสำหรับสร้างแผนที่ให้หุ่นยนต์น้องไดมอนด์นำทาง โดยถูกออกแบบเขียนฟังก์ชั่นโปรแกรมให้เป็นผู้ช่วยสามารถเดินพาทัวร์พร้อมสามารถพูดได้หลายภาษา มีทั้งเสียงผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงสามารถค้นหาหนังสือในหมวดหมู่ต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตวางแผนให้หุ่นยนต์น้องไดมอนด์สามารถเดินตรวจตราสำหรับเพิ่มความปลอดภัยภายในหอสมุดได้ด้วย”

ในการทำงานของหุ่นยนต์ไดมอนด์มีแพลตฟอร์มคอยควบคุมและดูแลเบื้องหลัง โดยได้คุยเรื่องนี้กับนายพัสสน มัติพงษ์ (บอล) นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตัวแทนทีม BU ROBOT STUDIO รับหน้าที่ดูแลแพลตฟอร์มลูก้าคอร์ (LUCA Core) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดการอาคารอัจฉริยะที่ช่วยกันพัฒนาขึ้นมา โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดการพลังงานจากการศึกษาพฤติกรรมภายในอาคารและควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์บริการให้มีการทำงานร่วมกับอาคารผ่านอุปกรณ์ LUCA Smart Box ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (IoT: Internet of Things) ที่นักศึกษาได้ออกแบบและพัฒนาขึ้น โดยสามารถสื่อสารกับอาคารได้ทั้งระบบ ในตอนนี้นำร่องทดลองในการทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ คณะวิศวะฯ และชั้น 4 อาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เนื่องจากตอนนี้ LUCA Core อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ทางทีมมีการวางเป้าหมายสูงสุดคือการนำแพลตฟอร์มนี้ไปติดตั้งทั้งอาคารทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้พลังงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยโลกของเรา”

ความสำเร็จของการต่อยอดไอเดียนวัตกรรมนี้ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ทางอาจารย์และนักศึกษาทีม BU ROBOT STUDIO ยังคงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงและก้าวสู่การพัฒนาธุรกิจจริง เพื่อตอกย้ำจุดยืนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในเรื่องการลงมือปฏิบัติเรียนรู้เสริมทักษะตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ฝึกฝนทักษะที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม