คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
แทบไม่น่าเชื่อที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านมานี้มีรายงานออกมาว่า “จำนวนประชากรของประเทศอินเดียได้แซงขึ้นหน้าจีนไปแล้ว” ซึ่งมีผลทำให้อินเดียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก
อีกทั้งขณะนี้อินเดียยังมีความสามารถแบบก้าวกระโดด ที่มีทั้งยิ่งใหญ่กว้างขวางและเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านการทหาร ด้านวัฒนธรรม และด้านจำนวนประชากร!!!
นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2023 ที่เพิ่งผ่านมานี้ปรากฏว่า อินเดียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีมากกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคนเลยทีเดียว
สำหรับความฉลาดหลักแหลมทางด้านการต่างประเทศของอินเดียก็ไม่เป็นสองรองใคร สืบเนื่องมาจากการที่ “นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี” ยึดเหนี่ยวในหลักยืนหนึ่งด้านความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการที่อินเดียรักษาความเป็นกลางเอาไว้เยี่ยงนี้ จึงมีผลทำให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกถึง 78%
ส่วนในการที่อินเดียสามารถวางตัวเป็นสายกลางเชื่อมความสัมพันธ์อย่างเป็นอันดีระหว่างการเมืองสองขั้วใหญ่ของโลก ซึ่งนั่นก็คือ “ฝ่ายขั้วตะวันตก” ที่นำโดยสหรัฐฯและ “ขั้วทางซีกฝั่งตะวันออก” ที่นำโดยประเทศจีน
ส่วนประเด็นใหญ่ๆอยู่ที่ว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจระดับโลกรายต่อไปหรือไม่นั้น? เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ปรากฏให้เห็นว่า อัตราการเกิดของเด็กอินเดียมีเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัวของจีน
ส่วนในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียปรากฏว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านจีดีพีอยู่ที่ 6.1% โดยจีนมีการเติบโตเพียงแค่ 4.5% (ข้อมูลจาก Foreign Affairs เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2023)
และหากว่าอินเดียสามารถจะแก้ไขปัญหาด้านความยากจนให้สงบลงได้ โอกาสที่อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็มีความเป็นไปได้สูง!!!
อีกทั้งขณะนี้ธนาคารโลกได้ออกมาบ่งชี้ว่า ในแง่ความเท่าเทียมของอำนาจทางการซื้อ อินเดียอยู่ในอันดับสามของโลก
จะเห็นได้ค่อนข้างเด่นชัดว่าที่ผ่านมา จุดเด่นนับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1947 อินเดียมุ่งเน้นด้านการปฏิรูปทางด้านการเกษตรครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากการที่เป็นประเทศพึ่งพาการนำเข้าธัญพืช มาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความยิ่งใหญ่ทางด้านการเกษตร
ส่วน “การประชุมสุดยอดกลุ่ม G 20 “ ที่จัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2023 ที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่า “ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน”และ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” มิได้เดินทางเข้าไปร่วมในการประชุม เท่ากับว่าการประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นฝ่ายกำกับการประชุม ยกตัวอย่าง อาทิ การที่นายกฯนเรนทรา โมดีสั่งห้ามมิให้ “ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี” ของยูเครน เข้าร่วมในการประชุมสุดยอด G 20 และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ตาม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถือได้ว่านายกฯนเรนทรา โมดี วางแผนการประชุมอย่างพิถีพิถัน!!!
นอกจากนั้นแล้วยังมีคำสั่งห้ามมิให้ชาวอินเดียในกรุงนิวเดลี ออกจากบ้านในช่วงการประชุมสุดยอดนี้ โดยนายกฯนเรนทรา โมดีต้องการให้ตัวแทนของประเทศต่างๆมองเห็นว่า “นิวเดลีเป็นเมืองที่มีระบบเต็มไปด้วยระเบียบ” หรือแม้กระทั่งศูนย์พักพิงของคนไร้ที่อยู่ทั้ง 9 แห่งในกรุงนิวเดลี รวมทั้งกลุ่มสลัมหลายๆแห่งที่ตั้งอยู่ในกลางกรุงนิวเดลลีก็ถูกรื้อถอน เพื่อให้ดูสวยงาม
การที่ประธานาธิบดีปูติน และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนไม่ปรากฏตัวในการประชุมสุดยอดจี 20 อาจจะตีความหมายไปได้หลายๆอย่างแง่หนึ่งอาจจะถูกมองว่า ประธานาธิบดีปูตินต้องการหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ในการบุกยูเครนหรืออาจจะเกรงไปว่า ตนเองเสี่ยงที่อาจจะถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามยูเครน
อีกแง่หนึ่งประธานาธิบดีปูตินอาจจะเกรงเรื่องการถูกโค่นอำนาจ ดังที่ “เยฟเกนี พริโกจิน”หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างแวกเนอร์ที่เคยสนิทสนมกับประธานาธิบดีปูติน ก่อการกบฏด้วยการนำกองทัพรับจ้างกว่า 25,000 คนบุกประชิดเมืองหลวงของรัสเซีย ที่อยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้นเอง
ส่วนเหตุผลที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G 20 มีการคาดการณ์ไปต่างๆนานา เพราะนับตั้งแต่เขาขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G 20 ทุกครั้ง หรืออีกนัยหนึ่งการที่ประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดG 20 ในครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณของความแตกแยกของฝั่งขั้วโลกอย่างมีนัยยะ
โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งมีบทบาทหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนการประชุมสุดยอด G 20 และถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด และจากผลของการสำรวจพบว่า ชาวอินเดียสองในสามเชื่อว่าอิทธิพลของอินเดียมีเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นั่นเอง
การประชุมสุดยอด G 20 คือการประชุมที่เปิดโอกาสให้บรรดาตัวแทนของประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกมารวมตัวกัน โดยครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองหลวงนิวเดลี โดยนายกฯนเรนทรา โมดีเปิดประตูต้อนรับกลุ่มสหภาพแอฟริกา 55 ประเทศ เข้าไปร่วมในกลุ่มG 20 อีกด้วย และถึงแม้ว่าจีนจะทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศในกลุ่มแอฟริกาก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าจีนมิได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
ทั้งนี้ถือได้ว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี สามารถดำเนินแผนการได้อย่างตรงเป้าที่ตั้งเอาไว้ให้แก่ทั้งตัวเขาเองและให้แก่ประเทศอินเดีย ซึ่งในระหว่างการประชุมสุดยอด G 20 ในครั้งนี้ยังถือเป็นเดือนที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียสามารถทำผลงานชิ้นโบแดง ในการที่ส่ง “จันทรายาน-3” ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เมื่อมองในภาพรวมแล้วจีนและอินเดียที่มีพรมแดนติดกัน และมักจะมีข้อพิพาทต่อกันบ่อยครั้งในเรื่องพรมแดนถึงกับมีการปะทะกำลังและต่างก็มีความคลางแคลงเป็นศัตรูต่อกันตลอดเวลาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อีกทั้งสองประเทศยังมีพื้นฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แถมทั้งจีนและอินเดียก็เป็นคู่แข่งทางธุรกิจต่อกัน และยังดูเหมือนว่าโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะจับมือทำงานร่วมกันค่อนข้างยากลำบาก
อนึ่งการที่จีนมีความแข็งแกร่งด้านการผลิตและด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าอินเดียก็มีความแข็งแกร่งทางด้านบริการและทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบไม่น้อยหน้า
โดยขณะนี้ทั้งสองประเทศต่างกระหายต้องการที่จะเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ อาทิเช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และแร่เหล็กให้แก่ประเทศของตนทวีคูณมากยิ่งๆขึ้น ซึ่งทั้งสองประเทศต่างกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นจีนและอินเดียต่างก็เป็นประเทศที่มีรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ของโลก โดยอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1947 ส่วนจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เมื่อปีค.ศ. 1949 โดยจีนมีการปกครองในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ส่วนอินเดียมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นที่แน่นอนว่าขณะนี้ทั้งสองประเทศต่างได้กลายเป็นคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ และอินเดียก็กำลังกล้าต้องการที่จะท้าทายจีนมหาอำนาจรายใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองประเทศต่างก็มีนักศึกษาของตนเดินทางไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆจากสหรัฐฯมากที่สุด และจากสถิติของปีการศึกษา 2021/2022 ระบุออกมาว่า จำนวนของนักศึกษาจีนมีถึง 290,086 คนต่อนักศึกษาอินเดีย 199,182 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 59% ต่อ 41% ที่นักศึกษาเหล่านี้ล้วนศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯด้วยกันแทบทั้งสิ้น และไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคตผู้นำทางด้านเศรษฐกิจทั้งของอินเดียและของจีนก็อาจจะเป็นศิษย์ที่มาจากสำนักเดียวกัน มีอาจารย์คนเดียวกัน เพราะผู้ที่จบการศึกษาจากสหรัฐฯต่างได้กลายเป็นกำลังสำคัญของแต่ละประเทศไปแล้วแทบทั้งสิ้น ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าของทั้งสองประเทศจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกลายเป็นศัตรูทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองกันโดยปริยาย ส่วนโอกาสที่อินเดียจะแซงขึ้นหน้าจีนก็ย่อมมีความเป็นไปได้สูง และโอกาสที่อินเดียจะก้าวขึ้นสู่เป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจก็ย่อมมีอย่างแน่นอนเช่นกันละครับ