ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

บางคนชอบที่จะฝันเพื่อตัวเอง แต่ก็มีบ้างที่ฝันเพื่อคนอื่น ๆ

หลังสงกรานต์ปี 2524 คือฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ของ “บ้านริมปิง” เจ้าของบ้านที่เป็นเจ้านายของผม คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่านี่คือ “บ้านในฝัน” ของท่าน ที่อยากอยู่สบาย ๆ ตอนแก่ (พ.ศ.นั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีอายุได้ 70 ปีพอดี) ส่วน “บ้านสวนพลู” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างเป็นทรงไทย คือ “บ้านในอุดมคติ” เพราะเป็นบ้านที่อยากอยู่ด้วยความเชื่อความรู้สึกของ “ความเป็นไทย” เพื่อบอกตัวตนความเป็นคนไทยของท่าน

ขออนุญาตเล่าถึงความเป็นมาของบ้านในฝันของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สักเล็กน้อย ว่าทำไมจึงเรียกว่า “บ้านในฝัน”  คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมจนจบมหาวิทยาลัย ได้ไปเที่ยวยุโรปหลายประเทศ ที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ไปเห็นบ้านเชิงเขา ปลูกด้วยไม้ หลังเล็ก ๆ เรียกว่า “สวิสชาเล่ต์” (Swiss Chalet) แล้วเกิดถูกใจ พอกลับมาเมืองไทยมาทำงานที่กระทรวงการคลังอยู่ในช่วงแรก ต่อมาธนาคารสยามกัมมาจล(หรือต่อมาคือธนาคารไทยพาณิชย์)ได้ให้ไปเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาลำปาง ท่านชอบขึ้นไปเที่ยวบนดอยขุนตาน ก็ได้ไปเห็นบ้านพักของพวกมิชชันนารี เป็นสไตล์สวิสชาเล่ต์นี้เหมือนกัน พอดีพวกมิชชันนารีกลับประเทศก็ประกาศขาย ท่านเลยซื้อมา แล้วปลูกเป็นบ้านพักหลังเล็ก ๆ เรียกว่า “บ้านดอยขุนตาน” ซึ่งท่านจะขึ้นไปพักในทุกฤดูหนาว แต่ภายหลังพออายุมากขึ้นก็ขึ้นดอยลำบาก พอดีอดีตภรรยาของท่านคือ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ มีที่ดินอยู่ที่เชียงใหม่ 2 แปลง อยู่ติดแม่น้ำปิง แต่คนละฝั่ง จึงมาขอให้ท่านซื้อแปลงหนึ่ง ท่านก็ตกลง และเริ่มปลูกบ้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ประมาณ 1 ปีก็เสร็จ เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง แบบชั้นครึ่ง ในสไตล์สวิสชาเล่ต์ ขนาดกะทัดรัด โดยเน้นพื้นที่ปลูกดอกไม้และผักเมืองหนาว จึงปลูกบ้านมาชิดรั้วหน้าบ้าน แล้วเว้นพื้นที่ระหว่างตัวบ้านกับแม่น้ำให้มากที่สุด เพื่อให้รับแสงแดดที่พืชต้องการอย่างเต็มที่

ความฝันของท่านจึงมาบรรจบ “บ้านเล็ก ๆ น่ารัก ปลูกผักและดอกไม้ อยู่สบาย อากาสดี ๆ”

ในวันขึ้นบ้านใหม่ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้นิมนต์พระสงฆ์ใกล้บ้าน คือวัดบ้านท่อ และวัดป่าตัน มาเจริญพระพุทธมนต์ ด้วยสำเนียงคำเมือง ที่มีลีลาแปลก ๆ กว่าที่เคยได้ยิน แต่เป็นที่ชอบอกชอบใจของเจ้าของบ้านมาก เมื่อพระฉันเพลแล้ว บรรดาแขกเหรื่อก็ร่วมรับประทานอาหาร โดยมีทั้งอาหารไทย จีน และฝรั่ง รวมถึงอาหารพื้นเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากญาติมิตรช่วยกันนำมา และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากร้านนิววิไลการ์เด้นท์ โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่ท่านชื่นชอบหลายอย่าง อาทิ ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว และข้าวคั่นจิ้น(ข้าวคลุกเนื้อบดและเลือดห่อใบตองนึ่ง กินร้อน ๆ กับเครื่องเทศและเครื่องปรุงต่าง ๆ)

งานเลี้ยงนั้นมีไปจนถึงตอนค่ำ คือแขกที่มางานล้วนแต่เป็นคนที่สนิทสนมกับเจ้าของบ้าน หลายคนมาจากกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกศิษย์ลูกหา ทั้งรุ่นใหญ่ที่ท่านเคยสอนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2489 – 2493 รุ่นกลาง คือพวกโขนธรรมศาสตร์ ที่ท่านสอนอยู่ระหว่างปี 2509 – 2515 และรุ่นเล็ก คือรุ่นพวกผมที่จบการศึกษาจากจุฬาฯและธรรมศาสตร์ในช่วงตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา พอได้ “ติดเครื่อง” ตั้งแต่กลางวันก็ “ติดลม” กันมาถึงบ่ายจนถึงค่ำและดึกดื่น

ศศิมาที่ผมเรียก “ยุ้ย” ที่เธอชอบมากกว่าชื่อเล่นเดิม “ปอน” ที่พ่อแม่ตั้งให้ ก็มาช่วยบริการในงานตั้งแต่ตอนเลี้ยงมื้อเที่ยง พอตกเย็นอาหารอื่น ๆ ลำเลียงมาอีก แล้วยังมี “มหรสพ” เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามรสนิยมของท่านเจ้าของบ้านมาเป็นบรรณาการให้กับแขกเหรื่อได้เพลิดเพลินในช่วงแรก โดยมีวงมโหรีจากกรมศิลปากรยืนโรง มีการฟ้อนพื้นเมืองเป็นศิริมงคล มีละครรำและโขนฉากเล็ก ๆ พอสักสามทุ่มการแสดงก็หมด ทีนี้ก็เป็นการแสดงแบบ “ฟรีสไตล์” โดยวงมโหรีเล่นดนตรีสากลและลูกทุ่งให้นักร้องในวัยต่าง ๆ ได้ร้อง รวมถึงเพลงรำวงและดิสโก้ ซึ่งก็ได้อาศัยสาว ๆ พนักงานเสิร์ฟของร้านนิววิไลการ์เด้นท์มาเป็นคู่เต้นและหางเครื่องให้ด้วย พอสักสี่ทุ่มเศษ ๆ เจ้าของบ้านก็บอกให้เลิก เพราะเดี๋ยวชาวบ้านรอบ ๆ จะไม่ได้หลับนอน

หนุ่ม ๆ หลายคนพยายามหาเศษหาเลยกับพนักงานเสิร์ฟ ดีที่ว่าเจ้าของร้านคงจะอบรมเด็ก ๆ มาดี คือแม้จะมีคนมาขอเต้น ก็ต้องเต้นด้วยความสุภาพ และไม่รับเงินทิป ดังนั้นหนุ่ม ๆ บางคนจึงหมดความพยายาม ส่วนผมก็รู้จักกับยุ้ยมาก่อน ในบางช่วงจึงได้เข้าไปทักทายตามประสาคนรู้จักกัน จึงได้ทราบว่าเจ้าของร้านค่อนข้างระมัดระวังเรื่องชื่อเสียง เพราะคนที่มาเที่ยวหรือมาทานอาหาร มักจะมีความคิดว่าร้านอาหารมี “บริการพิเศษ” อยู่หลายร้าน หรือพนักงานเสิร์ฟต้องหาเงินหรือเรียกค่าทิป จึงบอกกับพนักงานทุกคนว่าอย่าไปทำพฤติกรรมแบบนั้น เพื่อรักษาชื่อเสียงของทางร้าน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “ภาพลักษณ์ของสาวเหนือ”

พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นบ้านใหม่แล้วก็ไปทานอาหารนอกบ้านน้อยลง เพราะมีครัวในบ้านและท่านก็ชอบทำอาหารอร่อย ๆ รับประทานอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย ๆ ที่ท่านมักจะงีบนอนหลังอาหารกลางวัน ผมก็มักจะออกไปเที่ยวนอกบ้านสัก 2-3 ชั่วโมง โดยบางวันก็ไปเยี่ยมศศิมา เพื่อไปทานไอสครีมหรือน้ำปั่นสักแก้ว แต่ที่สำคัญก็คือได้ไปพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเธอช่างเป็นคู่สนทนาที่คุยสนุกน่าสนใจมาก ๆ ทีเดียว

เธอเล่าถึงวิถีชีวิตของ “ลูกสาวคนเมือง” ที่พ่อแม่และญาติพี่น้องที่แวดล้อมยังหัวโบราณอยู่มาก ลูกสาวทุกคนจะถูกปลูกฝังว่าต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ นั่นหมายถึงต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย ทั้งยังมีศักดิ์ศรีหรือได้รับการยอมรับน้อยกว่า เช่น ได้เรียนน้อยกว่า จนกระทั่งทรัพย์สมบัติก็ได้รับการแบ่งปันน้อยกว่า ในเวลาที่ได้รับมรดกหรือพ่อแม่ต้องตายไป ดังนั้นในยุคสมัยที่ผู้หญิงเริ่มได้ทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงก็ต้องทำงานแข่งกับผู้ชายเพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่การยอมรับก็เกิดขึ้นได้แปลก ๆ เช่น ยอมรับผู้หญิงที่ทำงานให้บริการทางเพศ แต่ถ้าสามารถหาเงินมาสร้างเนื้อสร้างตัว เช่น ปลูกบ้านให้พ่อแม่ หรือซื้อที่ทางได้เพิ่ม ก็เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ๆ ได้ด้วย ถึงขั้นในเวลาสงกรานต์ “ปี๋ใหม่เมือง” ผู้หญิงเหล่านี้กลับมาเยี่ยมบ้าน ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้เปิดเผยตรง ๆ ว่า ผู้ชายนั้นหาเงินได้มาก เพราะไปทำงานที่ตะวันออกกลาง แต่พวกเธอต้องอยู่ในประเทศ และห่างพ่อแม่มากไม่ได้ เงินที่ได้มาจาก “แรงกาย” นี้จึงมีคุณค่าหลายอย่างแก่พวกเธอ โดยเฉพาะได้พิสูจน์ถึง “แรงกตัญญู” ที่พวกเธอต้องมีต่อพ่อแม่และครอบครัว

2-3 ปีต่อมา ร้านนิววิไลการ์เด้นท์เปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่น ด้วยเหตุผลทางระบบภาษี แต่ศศิมาก็ยังคงทำงานอยู่ในร้านนั้น จนถึงปี 2529 ที่ผมไม่ได้ติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเชียงใหม่อีก เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในปลายปี 2528 และให้ผมไปสอบเข้ารับราชการ ซึ่งผมก็สอบได้ที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติในตอนต้นปี 2529 นั้น แม้ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะขึ้นไปพักที่บ้านริมปิงอยู่เป็นระยะ ผมก็ได้แต่ขึ้นไปหาในบางโอกาส เช่น ไปช่วยท่านปลูกผักและดอกไม้ในตอนต้นฤดูหนาว และไปฉลองคริสต์มาสในตอนปลายปี เป็นต้น จนถึงปี 2536 ท่านก็ไม่ได้ขึ้นไปอีก เพราะป่วยนอนติดเตียงอยู่ที่โรงพยาบาลตั้งแต่กลางปีนั้น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 9 ตุลาคม 2538

ในปี 2530 ผมสอบโอนไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้มีโอกาสออกไปสอนในต่างจังหวัดหลายแห่ง รวมถึงที่เชียงใหม่ด้วย ซึ่งผมก็ได้ใช้ช่วงเวลาว่างจากการสอนไปเยี่ยมศศิมา แต่ว่าเธอไม่อยู่ที่ร้านอาหารตรงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์นั้นแล้ว ผมจึงลองไปดูที่ป่าซาง จังหวัดลำพูน และก็ได้เจอเธอที่นั่น

ศศิมาเปลี่ยนไปเยอะ สวยขึ้นมาก และดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก ผมได้เห็นกิจการหลายอย่างที่เธอทำตั้งแต่ร้านขายของที่ระลึกที่ทำมาแต่สมัยพ่อแม่ ร้านอาหารที่เธอใฝ่ฝัน และกิจกรรมเพื่อสังคมอีก 2-3 อย่าง ที่เธอทำเพื่อฝันของคนอื่น ซึ่งเธอมีความสุขกับทุก ๆ กิจกรรมนั้นมาก