เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จับมือกับ 5 สถาบันการศึกษา ร่วมพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 4 ปี เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล GSTC UCCN และ CBT Thailand ด้วยการชูจุดขายวิถีชีวิตและวัฒนธรรม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศักยภาพแห่งใหม่ ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย
ร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัย
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา คือ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ องค์กรชุมชน และองค์กรภาคเอกชน ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567- พ.ศ. 2570)
ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)
ส่งเสริมศักยภาพทุกหน่วยงาน
พร้อมกันนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้ตกลงขอบเขตการทำงานร่วมกัน โดย อพท. และ 5 มหาวิทยาลัย จะร่วมกันประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. และชุมชนท้องถิ่นจัดให้มีการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและการวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ อพท. และมหาวิทยาลัย จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงานและโครงการตามแนวทาง การดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรรและภารกิจของหน่วยงาย โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร มาร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการ ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เป้าหมายของ อพท. ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน นอกจากนั้น ยังตกลงร่วมกันที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ใน การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี มีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories
โดยความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัยมีดังนี้ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นมหาวิทยาลัยภาคเอกชน ที่มีนักวิจัยที่เข้มแข็งและได้รับทุนต่างๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนพื้นที่ในเรื่องดิจิตอล และนวัตกรรมต่างๆ มหาวิทยาลัยทักษิณ จะหนุนเสริมด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมกับการบริหารธุรกิจ ด้านการตลาดที่จะเข้ามาสนับสนุนและขับเคลื่อนพื้นที่ ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความโดดเด่นในเรื่องของไอที และเทคโนโลยี ที่สามารถหนุนเสริมด้านนวัตกรรม และมีความเชี่ยวชาญเรื่องสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ที่จะนไไปสู่การอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน
ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีโครงการยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทั้งจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล เป็นพื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาในเรื่องของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่มาเติมเต็มและขับเคลื่อนร่วมกันด้านความยั่งยืน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ วางผังพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนหนุมนเสริมเรื่องเมืองสร้างสรรค์ที่จะหนุนเสริมพื้นที่สู่มรดกโลก ซึ่งทั้ง 5 มหาลัยนั้น อยู่ใน 15 ภาคีคนรักสงขลา และจะขับเคลื่อนสงขลามรดกโลก
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปี หรือภายในปี 2570 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและการกระจายรายได้ในพื้นที่พิเศษ 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด เพิ่มขึ้น 20%
ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ด้าน รองศาสตราจารย์ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้มุ่งทำงานไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งเน้นพัฒนาชุมชน ดังนั้นการลงนามร่วมมือกับอพท.เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับอีก 4 สถาบันอุดมศึกษา ก็จะช่วยทำให้แผนยุทธศาสตร์ฯ ของ มรภ.สงขลา ใน 5 ปีข้างหน้ามีความชัดเจน ในการช่วยกันเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุดร นามเสน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้นำศักยภาพของบุคลากรที่มีการศึกษาทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปช่วยพัฒนาส่งเสริมแหล่งทองเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ย่านเมืองเก่าสงขลา และพื้นที่อื่นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ และสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม