วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ กทม.ทบทวนและยุติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ พร้อมยื่นข้อเสนอจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4) โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับหนังสือและรับฟังปัญหาด้วยตนเอง

 

นางสาวสารี กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างอาคารโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ พบว่า มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคหลายเรื่อง เช่น การก่อสร้างล่าช้า และไม่เป็นไปตามโฆษณา และไม่คืนเงินดาวน์ ริบเงินจอง เงินทำสัญญา ระบบสาธารณูปโภคไม่มี ที่จอดรถไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารไม่ตรงตามแบบที่ขออนุญาต ดำเนินการก่อสร้างโดยยังไม่ผ่านรายงานวิเคราะ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การสร้างโดยไม่เว้นระยะร่นหรือระยะห่างตามกฎหมาย และการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ภายในซอยแคบบดบังทัศนียภาพของบ้านเรือน โดยมีการต่อเติมผิดกฎหมาย การตอกเสาเข็มจนสร้างความสั่นสะเทือนทำให้บ้านข้างเคียงร้าว ทรุด ผนังอาคารร้าว นอกจากนี้ การก่อสร้างอาคารในหลายพื้นที่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขาดการรับฟังเสียงจากชุมชนโดยรอบทำให้อาคารในหลายพื้นที่ก่อสร้างอย่างไม่ถูกต้อง

 

นางสาวสารี กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งอาจเกิดความไม่ปลอดภัยด้านอัคคีภัย โดยเฉพาะการสร้างอาคารขนาดใหญ่ภายในซอยแคบ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ เอส - ประดิพัทธ์(ประดิพัทธ์ ซอย 23) 2.โครงการ เดอะมูฟ - พหลโยธิน (พหลโยธิน ซอย 37) 3.โครงการ เอส - รัชดา (รัชดาภิเษกซอย 44) ทั้ง 3 โครงการ มีปัญหา ความกว้างถนนไม่ถึง 6 เมตร จึงไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000-10,000 ตารางเมตรได้ จำนวนที่จอดรถในโครงการไม่เพียงพอตามกฎหมายกำหนด และยังการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ของโครงการ เอส - รัชดา (รัชดาซอย 44 มีการก่อสร้างอาคารที่มีพื้นที่รวมกันเกิน 10,000 ตารางเมตร แต่โครงการกลับทำการแยกก่อสร้างเป็น 2 อาคาร

 

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเร่งด่วน โดยขอให้กทม. ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น ระงับขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ เพื่อทำการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องความกว้างทางสาธารณะ สิ่งแวดล้อมลักษณะกายภาพของชุมชน โดยพิจารณาจากบริบทของชุมชนและการพัฒนาของเมืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย 1.ขอให้กทม.จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาจัดตั้งกองทุน EIA เป็นกองทุนอิสระโดยมีคณะกรรมการจากกระบวนการสรรหาผู้เชี่ยวชาญจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการพิจารณาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยให้เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการเข้ากองทุน สำหรับการใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการพิจารณาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

 

2.ขอให้พิจารณาแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ให้มีลักษณะเดียวกันกับการกำกับดูแลอาคารสูง/อาคารขนาดใหญ่ ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ที่กำหนดเรื่อง เขตทาง และ ผิวจราจร เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายควบคุมอาคารเรื่องของความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอัคคีภัย 3.ขอให้กทม.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาองค์กรผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญในการทบทวนการใช้หรือการมีอยู่ของมาตรา 39 ทวิ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้การสร้างอาคารต้องผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานผู้มีความรับผิดชอบในการควบคุมกำกับดูแลการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และมีผู้รับผิดชอบในการอนุญาตการสร้างอาคารอย่างชัดเจน 4.ขอให้กทม.กำกับดูแลขั้นตอนการอนุญาตสร้างอาคารในเขตกรุงเทพฯ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อลดปัญหาการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จะเร่งตรวจสอบและดำเนินการแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียนต่อไป