เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมด้วยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กว่า 50 คนเข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2566 พร้อมกับทำกิจกรรม “ปัญหาเด็กเยาวชนอย่าซุกไว้ใต้พรม  ขอนโยบายป้องกันแก้ไขจริงจัง” โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

​นายธีรภัทร์ คหะวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า ข้อมูลปี 2565 ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนอายุ 0-24 ปี 18.7 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี 8.2 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ แต่กำลังเติบโตท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ช่องว่างระหว่างวัยที่เริ่มกว้างออกไปทุกที การมีส่วนร่วมเป็นแค่วาทกรรม ลูกหลานไทยยังคงเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ โดยทุกๆ ปีมีเด็กและเยาวชนนับพันคนถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ เกินครึ่งเกิดจากคนในครอบครัว มีเด็กและเยาวชนถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน มากกว่า 5 แสนราย มีเด็ก เยาวชนก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจปีละเกือบ 2 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นคนที่ทำผิดซ้ำมากกว่า 44% ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด และพบว่าไม่ได้เรียนต่อ นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 2-3 พันคน เยาวชน 15-24 ปี สูบบุหรี่มากกว่า 1.2 ล้านคน ดื่มสุราเป็นประจำ 5.8 แสนคน เยาวชนอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน เรามีผู้ที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดว่า 2 แสนราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปีกว่า 20% หรือกว่า 4 หมื่นคน

“สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นรายล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชน เหมือนขยะที่ถูกซุกไว้ใต้พรม  ยังไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ดังนั้นในโอกาสที่รัฐบาลใหม่พึ่งได้เข้ามาบริหารประเทศ เครือข่ายภาคประชาชนจึงคาดหวังกับรัฐบาล ขอให้มีนโยบายแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนอย่างจริงจัง  และขอสนับสนุนนโยบายปราบปรามยาเสพติดตามที่รัฐบาลประกาศไว้” นายธีรภัทร์ กล่าว

ด้านนางสาวศุภัทรา ภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง และมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2566 ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ปกป้องและลดผลกระทบกับเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า พนัน บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด อุบัติเหตุ และการคุกคามทางเพศ และขอให้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนนโยบายเพิ่มพื้นที่เสี่ยงและอบายมุข 2. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนพื้นที่และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ต้องเคารพ ไม่ปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ   3. ขอให้รัฐบาลเร่งทบทวนนโยบายกัญชาและกระท่อมที่ถูกปลดจากยาเสพติดอยู่ตอนนี้เพราะกำลังเป็นดาบสองคมที่สร้างผลกระทบกับเยาวชน

4. ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน เร่งจัดหาบุคลากรที่มีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมาช่วยดูแล ป้องกันแก้ไขทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ และ 5. ขอให้รัฐบาลพิจารณาคงไว้ หรือยกระดับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีประโยชน์มาก  หากสถานบันเทิงขายสุราให้เด็ก มียาเสพติด ขายเกินเวลาที่กำหนด ส่งเสียงดัง เล่นพนัน และค้ามนุษย์ ต้องถูกปิดอย่างน้อย 5 ปี กรณีนอกเขตโซนนิ่ง และปิดถาวรหากพบว่าตั้งอยู่ในเขตโซนนิ่งใกล้สถานศึกษา เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดผับดังกลางเมืองพะเยา ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า20 ปีมากถึง 143 คน เข้าใช้บริการ ซึ่งต้องถูกสั่งปิดยาวตามคำสั่งนี้

ขณะที่ นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ต้องขอบคุณเยาวชนที่เห็นความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในนามของรัฐบาลจะรับข้อเสนอทุกเรื่อง เพื่อนำไปเสนอท่านนายกรัฐมนตรี นำไปเร่งปรับปรุงแก้ไข ส่วนเรื่องคำสั่ง คสช. รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด อยู่ระหว่างการทบทวนดูว่าอันไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ สังคมและเยาวชน จะต้องยึดไว้ ส่วนประเด็นนโยบายกัญชาได้มีการทบทวน และเรื่องยาเสพติดนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรกๆอยู่แล้ว