TEI ร่วมกับ TBCSD ยกระดับมาตรฐานองค์กรธุรกิจไทยสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะวิกฤตของภาวะโลกร้อนที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่องค์การสหประชาชาติ ได้ชี้ว่าเดือนกรกฎาคม 2023 ถูกจัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนสุดนั้น เป็นสัญญาณแจ้งว่าโลกได้เข้าสู่ 
“ยุคโลกเดือด” แล้ว ในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ได้จัดงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” และได้ร่วมกับ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) จัดงานเสวนา “ความท้าทายธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน” เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Country Issue) และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน อันเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

โโยภายในงานได้มีการเสวนาย่อย ในหัวข้อ “การยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต” จากผู้บริหารขององค์กรพันธมิตรของ TBCSD ซึ่งทุกองค์กรได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและร่วมสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า TBCSD และ TEI พร้อมภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 
(Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการยอมรับ
ในระดับสากล

นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บริการสมาชิก บุคคล และองค์กรทั่วไป โดยการถ่ายทอด
องค์ความรู้ การดำเนินงานที่ปรึกษาและการทวนสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการขับเคลื่อนกลไก BCG ที่สอดรับกับมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตและพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมกลไกการชดเชยคาร์บอนและมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย มุ่งมั่นเสริมสร้างความยั่งยืนทางการเงินของตลาดทุน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบหลัก 6 ด้าน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศตลาดทุนอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.ผู้ระดมทุน (Issuers) 
2.ผู้ลงทุน (Investors) 3.เครื่องมือระดมทุน (Products) 4.ผู้ประเมินภายนอก (External reviewer) 5.ศูนย์รวมข้อมูล (Platform) และ 6.ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน
ตามแนวทางสากลจึงเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยเพิ่มโอกาสของภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วโลก และการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและมั่นคง

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.การสร้างทักษะความรู้ และเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อให้บริษัทเข้าใจพื้นฐานตั้งแต่การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลและคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวก 2.สร้างบุคลากร ให้มีความพร้อมและมีจำนวนเพียงพอกับการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 3.สร้างมาตรฐานและคู่มือ สำหรับให้บริษัทนำไปใช้ประกอบการบริหารจัดการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ 4.สร้าง Platform การเปิดเผยข้อมูล เพื่อความสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงถึงความโปร่งใส

นางสาวอลิสรา ศิวยาธร CEO Sivatel Bangkok Hotel (ต้นแบบก้าวพอดี) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้โลกได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะโลกร้อนเข้าสู่สภาวะโลกเดือดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งมือทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ตั้งแต่ต้นน้ำ
ถึงปลายน้ำ ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาใช้เป็นจุดขายแข่งขันกัน แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันลงมือแก้ไขเพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน

โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะเป็นพลังสำคัญในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065