"รมช.ไชยา" ตั้งทีมแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศ  จ่อขึ้นทะเบียนโบรกเกอร์ป้องกันการเอาเปรียบหน้าฟาร์ม พร้อมจับมือ ก.พาณิชย์ ดีเอสไอ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ปราบกองทัพหมูเถื่อนทะลัก ฎอธิบดีดีเอสไอฎ ระบุคดีหมูเถื่อนมีบริษัทยักษ์ใหญ่ 4-5 แห่งอยู่เบื้องหลัง

วันที่ 20 ก.ย.66  ที่ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วไทย ในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้รายย่อยยั่งยืน”  โดยชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยไทย มี น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง นักวิชาการอิสระ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมลล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ผู้แทนอธิบดีกรมการค้าภายใน และ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ดำเนินรายการ การเสวนาเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งนอกจากในที่ประชุม ยังมีกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงการหาแนวทางป้องกันในเรื่องของราคาหมู และราคาต้นทุนการเลี้ยงหมูกับปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยกลุ่มที่ชาวบ้านเรียกว่า โบรกเกอร์หน้าฟาร์ม ก็คือคนที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมู และเป็นผู้ซื้อขายหมูกับเกษตรกรรายย่อย แต่มีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบ

ด้าน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเสนอว่า การแก้ไขปัญหาหมูเถื่อนนั้น ก่อนรับเรื่องเป็นคดีพิเศษ ได้รับทราบปัญหาและหารือกับ นายอัจฉริยะฯ เกี่ยวกับปัญหาสุกร ยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลกระทบสูงและมีเบื้องหลัง การรับเป็นคดีพิเศษ “หมูเถื่อน” ครั้งนี้ถือว่า “ดีเอสไอ” ทำได้เร็วที่สุด เร่งรัดจนสามารถ ยึด อายัด หมูเถื่อนในท่าเรือได้ 161 ตู้ แนวทางการสืบสวน “ดีเอไอ” รู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นใครและ ไม่ใช่เฉพาะคนในท่าเรือแหลมฉบับ  แต่ยังมีกลุ่มคนที่กำลังทำการขยายผล มีการแจ้งข่าวในเชิงลึกทำให้ทราบว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังกระทำความผิดเป็นบริษัทใหญ่ประมาณ 4-5 บริษัท ยืนยันว่าการทำงานจะทำอย่างเต็มที่ และก็ยังคงต้องการข้อมูลในทางลับเพื่อดำเนินการปราบปรามในเรื่องนี้

นายอัจฉริยะ เรื่องรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเสนอว่า ตนต้องการเรียกร้องให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ใช้กฏหมายจับกุม “โบรกเกอร์” เนื่องจากพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะได้รับผลกระทบโดยตรง และนอกจากนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือกับกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ กรมปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการจับกุมหมูเถื่อน ที่ท่าเรือแหลมฉบังไปแล้ว 161 ตู้ แต่ยังพบว่ายังมีท่าเรืออื่นที่ยังมีหมูเถื่อนทะลักเข้ามาอีกกว่า หนึ่งพันตู้ ซึ่งเรื่องนี้การแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับ อธิบดีกรมศุลกากร  ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือมากนัก

“นอกจากนี้ปัญหาหมูเถื่อนยังเกิดจากการสำแดงรายการอันเป็นเท็จ ร่วมกันหลายฝ่าย ด้วยวิธีการคีย์ข้อมูล เช่น มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน จากประเทศบราซิล ต้นทางรู้ว่าเป็นเนื้อหมูแต่เมื่อมาถึง ประเทศไทย “ชิบปิ้ง” คนคีย์ข้อมูลจะทำการเปลี่ยนประเภทของสินค้า เช่นจากเนื้อหมู ก็จะเป็นปลาเป็นต้น ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู มีการขายหมูตัดราคา ที่ทำให้ประเทศเสียหายจากปัญหาการลักลอบนำเข้าปีละกว่า 7 หมื่นกว่าล้านบาท การแก้ไขปัญหา จึงต้องพุ่งเป้าไปที่ด่านศุลกากร โดยเฉพาะอธิบดีกรมศุลกากร จะต้องให้ความร่วมมือ” อัจฉริยะ กล่าวฯ

น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ การปราบปรามหมูเถื่อนจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน เพราะการลักลอบนำเข้า ทำให้ผู้เลี้ยงหมูในประเทศค่อยๆหมดไป เพราะการนำเข้านั้นไม่ต้องเลี้ยงขายและสามารถขายได้ราคาถูกกว่า ซึ่งที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการปราบปรามจนพบว่า เนื้อหมูเถื่อนนั้น ลักลอบมาในรูปแบบ กองทัพมด ที่มาจากประเทศรัสเซีย และทางเรือ มาจากประเทศบราซิล  ในเรื่องราคากรมปศุสัตว์ พยายามรักษาเสถียรภาพราคา ต้องการให้ราคานิ่ง อยู่ได้ทุกคนผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ดังนั้นในกรณี ผู้จับผู้ขาย ที่เรียกว่าขึ้นทะเบียนโบรกเกอร์ จำเป็นที่ต้องขอข้อมูลจากผู้เลี้ยงว่าได้ซื้อขายหมูให้ใครบ้าง จึงจะสามารถทำการติดตามขึ้นทะเบียนได้ เพราะจะต้องพิจารณาไปถึงปริมาณการผลิต ที่ต้องสมดุล โครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ตั้งแต่หมูหน้าฟาร์ม ที่ต้องหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์

ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย แบ่งออกได้เป็นหลายกรณี ขณะนี้เฉพาะหน้า เป็นปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน มีข้อมูลมาจากเรือประเทศบราซิล และ ในลักษณะกองทัพมดตะเข็บชายแดนของประเทศรัสเซีย กับปัญหาคนส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกร นั่นหมายถึง โบรกเกอร์ มีพฤติกรรมกดราคาจนทำให้ผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งชมรมฯ ได้เรียกร้องให้ทำการขึ้นทะเบียน กับอีกหนึ่งปัญหาก็คือในเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง 

“กรณีนี้ ข้อมูลปี 2565 จาก กรมปศุสัตว์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศ จำนวน 149,000 ราย จำนวนประชากรหมูประมาณกว่า 10 ล้านตัว เป็นหมูขุนกว่า 9 ล้านตัว เป็นกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย 136,000 ราย คิดเป็นร้อยละเก้าสิบเจ็ด ซึ่งผลกระทบปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ปัญหาโบรกเกอร์เอาเปรียบ และปัญหาต้นทุน  จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องแก้ปัญหา”

ดร.ไชยา กล่าวว่า อนาคตจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยมีผู้แทนเกษตรกรรายย่อยเข้ามาร่วมวางแผนแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ในการปราบปราม ที่ต้องมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอัจฉริยะ กรมปศุสัตว์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำหนดราคาหน้าฟาร์มที่ชัดเจน ที่ทั้งผู้เลี้ยงและผู้ซื้อจะต้องเข้าใจถูกต้องตรงกัน ซึ่งก็ต้องดูช่องทางของ กฏหมายให้ชัดแจ้งต่อไป