วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการรื้อถอนบ้านรุกล้ำริมคลอง ว่า จากการสำรวจล่าสุดเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบบ้านรุกล้ำคลองสาธารณะ จำนวน 11,231 หลัง ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 61 หลัง กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 127 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 456 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 1,305 หลัง กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 1,627 หลัง และกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 7,655 หลัง ปัญหาหลักที่พบคือ แม้ผู้อำนวยการเขตในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถบังคับใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 (ปว.44) โดยการออกคำสั่งให้รื้อและสามารถเข้าไปรื้อได้ทันทีตามกฎหมาย ภายใน 15-30 วัน แต่เมื่อผู้อยู่อาศัยไม่ยอมย้าย กทม.จึงใช้วิธีฟ้องร้องดำเนินคดี ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์ ทำให้การรื้อถอนยืดยาวออกไป 3-5 ปีต่อหลังคาเรือน จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินถึงที่สุด
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ตามหลักการ กรณีผู้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุทุเลาต่อการบังคับรื้อถอนเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันที แต่ที่ผ่านมามีกลุ่ม NGO (องค์การนอกภาครัฐ: non-governmental organisation/organization) ร่วมกับผู้ถูกฟ้องร้องและชาวบ้านรวมตัวกันกดดันจนเกิดประเด็นขึ้นในสังคม เรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อชาวบ้าน ทำให้ผู้อำนวยการเขตไม่กล้าดำเนินการรื้อถอนตามกฎหมาย จึงใช้วิธีการฟ้องต่อศาลทดแทน ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาคดีหลายปี นอกจากนี้ จากการตรวจสอบทะเบียนรายชื่อผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันพบว่า ในจำนวนบ้านรุกล้ำทั้งหมดกว่า 1 หมื่นหลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ผู้รุกล้ำเดิมปล่อยเช่าให้ผู้อยู่อาศัยรายใหม่หากถูกรื้อถอนจะทำให้เสียประโยชน์ด้านรายได้ค่าเช่า จึงทำให้มีการสนับสนุนการต่อต้านการรื้อถอนด้านต่าง ๆ ร่วมกัน
นายเฉลิมพล กล่าวว่า แต่เดิมเคยบังคับใช้ ปว.44 ที่คลองลาดพร้าว ย้ายชาวบ้านไปอาศัยที่บ้านมั่นคง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตมากขึ้นโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ภายหลังเมื่อมีกลุ่ม NGO เข้ามาสนับสนุนผู้รุกล้ำ เช่น ช่วยเขียนคำร้อง ต่อสู้คดีความ ประท้วง ทำให้กลุ่มผู้อาศัยไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่คลองบางส่วน กทม.ไม่มีอำนาจ อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีการดำเนินการรื้อถอนตามคำสั่งศาลไปบ้างแล้ว เหล่านี้คือปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้การรื้อถอนบ้านรุกล้ำริมคลองล่าช้า โดยตามกฎหมายเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเป็นกรณีได้ เช่น หากรุกล้ำบนพื้นดินมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หรือหากรุกล้ำผิวน้ำสามารถใช้ ปว.44 ดำเนินการได้ เป็นต้น
นายเฉลิมพล กล่าวว่า แม้จะมีการยื้อผ่านการต่อสู้คดี หรือผ่านการสนับสนุนจากกลุ่มใดก็ตาม เมื่อถึงที่สุดแล้วผู้รุกล้ำต้องย้ายออกเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่มีหมดอายุความ จะอ้างเหตุอายุความมาต่อสู้คดีไม่ได้