เพื่อไทย ทำบุญก่อตั้งพรรคครบ 16 ปี ภูมิธรรม แย้ม อุ๊งอิ๊ง มีลุ้นนั่งหน.พรรค เล็งคนรุ่นใหม่สานต่อ ย้ำแก้ รธน.เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องเสร็จภายใน 4 ปี ด้าน พิชิต ย้ำแก้รธน.ต้องให้เสร็จใน รัฐบาลเศรษฐา ขณะที่พิเชษฐ์ชี้ยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับไม่ควรรีบร้อน หนุนโมเดลโครงสร้าง ส.ส.ร.40 เป็นประชาธิปไตยที่สุด ชัยธวัช เตือน เศรษฐา ตั้งคนมีประวัตินั่งที่ปรึกษาฯ อาจสะเทือนถึงความเชื่อมั่น
ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.66 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยพร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และกรรมการบริหารพรรค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบเขต และบุคลากรพรรคเพื่อไทย ร่วมกันสักการะพระชัยมงคลและศาลตายาย ที่บริเวณชั้น 7 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พร้อมทำบุญเลี้ยงเพลพระ 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้งพรรคเพื่อไทย
นายภูมิธรรม กล่าวถึงการคาดการณ์กันว่าจะมีชื่อ น.ส.แพทองธาร มาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปว่า น.ส.แพทองธาร เป็นคนรุ่นใหม่ที่นำสิ่งใหม่เข้ามาสู่พรรค เป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการทำงาน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้นเป็นเรื่องของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งแนวโน้มของพรรคในขณะนี้คือการพยายามให้คนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารมากยิ่งขึ้น พวกเราที่เป็นคนมีประสบการณ์คิดควรจะโอนถ่ายไปเป็นผู้สนับสนุนและที่ปรึกษา
นายภูมิธรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายกฯให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีว่าขณะนี้ กำลังดูและติดต่อทาบทามบุคคล จากทุกภาคส่วน หรือคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายมหาชน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้อยากให้คนส่วนร่วมให้มากขึ้นและให้มีการทำประชามติให้ได้โดยเร็ว และยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม มีการวางแนวทางไว้คร่าวๆ ซึ่งต้องไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ อีกว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะทำอย่างไร ให้เป็นที่พึงพอใจกับทุกฝ่าย และขอย้ำว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 และต้องเสร็จภายใน 4 ปี
ส่วน นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้คงพูดคุยกันในหลายประเด็น ซึ่งจะมีประเด็นทั้งการแก้รายมาตราและแก้ทั้งฉบับ แต่จะทำให้การแก้ไขธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดและจะทำให้ สำเร็จในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการการคลัง ให้ได้
เมื่อถามถึง คดีถุงขนม 2 ล้าน ที่กำลังถูกสังคมตั้งคำถาม มีความมั่นใจหรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ตนทราบว่ากฤษฎีกาไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตอนนี้ตนไม่ยึดติดตำแหน่ง เพราะเป็นคนทำงาน ขอทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ตอนนี้เขาให้โอกาสตน ตนก็จะทำงานให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชนให้มากที่สุดด้านส่วนกฎหมาย อยากจะทำให้เกิดความเป็นธรรม สร้างกระบวนการหลักนิติธรรมให้เกิดกับประเทศชาติ และประชาชนให้มากที่สุด ยืนยันว่าไม่มีอะไร
ผมจิตไม่ตก จะดีหรือชั่วก็อยู่ที่ตัวเอง และให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย โดยวันนี้ได้มอบหมายให้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ไปฟ้อง ยืนยันว่าผมไม่ได้โกรธแค้นแต่อย่างใด เพียงแค่อยากให้สังคมรับรู้ หากมีการล่วงเกินกันเกินไป ผมจึงก็ต้องใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย
ทางด้าน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านระบุว่า การที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการซื้อเวลาว่า การแก้ไขรัฐธรรม นูญที่เราเคยแก้ไขเล็กๆน้อยๆยังทำได้ยาก หากจะทำทั้งระบบ ซึ่งทุกคนอยากจะแก้ไข ก็ไม่ควรเร่งรีบ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องทำให้ละเอียดรอบคอบ หากไม่รอบคอบอาจจะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งทุกคนก็มีความต้องการเหมือนกันหมด
เมื่อถามถึงกระบวนการให้เบื้องต้นควรกลับมาสู่สภาฯ เพื่อให้เป็นตัวกลางในการพิจารณาหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า เมื่อทำประชามติทำประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องมาตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ซึ่งตนเห็นว่าที่มาของส.ส.ร.ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 40 มาจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั่วประเทศ ซึ่งเห็นว่า เป็นหลักที่ควรยึด ถือ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดและสุดท้ายก็จะอยู่ที่สภาฯเพราะสภาฯเป็นเวทีให้อยู่แล้ว เมื่อถามย้ำ ว่า เห็นด้วยกับโมเดลส.ส.ร.ปี 40 ใช่หรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แล้วแต่รัฐบาลจะดำเนินการ
ส่วนที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรค ก.ก.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทั้ง 9 คน ที่มีปรากฏรายชื่อของ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความครอบครัวชินวัตร และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาคดีข้าวบูล็อก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความสง่างาม ว่า นายกฯคงต้องมีความระมัดระวังในการที่นำคนที่อาจจะมีประวัติ ซึ่งอาจจะถูกตั้งคำถามในแง่ของความซื่อสัตย์สุจริต การมีทีมงานที่มีประวัติไม่ดีก็อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกฯ ได้ ถ้านายกฯ ทบทวนและกลั่นกรอง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง หากมองว่าคดีความได้สิ้นสุดลงไปแล้วก็ได้ แต่ในทางการเมือง ความคิด และความรู้สึกของสาธารณะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ได้ออกมาระบุว่า รัฐบาลชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ขนาดนี้แล้ว เพราะหลายเรื่องต้องใช้เวลา ฝ่ายค้านจะรีดเค้นให้ได้เลยหรือ นายชัยธวัช กล่าวว่า ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน 2 เรื่อง หนึ่ง รัฐบาลคงต้องเข้าใจว่าในตอนนี้พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเป็นแกนนำรัฐบาลมีความชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะมีแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ซึ่งก็เคยมีการแถลงด้วยซ้ำในตอนที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งรัฐบาล มีข้อหนึ่งที่ระบุว่า ภารกิจของรัฐบาลคือเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้งยังมีการพูดถึงว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกจะมีวาระเรื่องการลงประชามติ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าเป็นแค่คำสั่งให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปตั้งคณะกรรมการศึกษา แน่นอนว่าสังคมดูคาดหวังว่าทำไมไม่เหมือนกับที่เคยว่าไว้
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า สอง มีคำถามว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจะเป็นการเตะถ่วงเวลา หรือเปิดช่องเพื่อไม่ให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ซึ่งเข้าใจได้ว่าสังคมกังวล อีกทั้งยังมีคำถามว่า จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการนี้อีกหรือไม่ อย่างในสภาสมัยที่แล้ว ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว ตนเองก็ได้นั่งอยู่ในกรรมาธิการชุดนั้นด้วย มีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองรวมถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ ในขณะนั้น ได้เป็นประธานใน กมธ.ชุดนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ในข้อสรุปของ กมธ.นอกจากจะศึกษาในรายละเอียดและเนื้อหาที่ควรจะมีการจัดทำใหม่แล้ว ก็ยังมีการเสนอว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง และให้มีการทำประชามติ เพราะฉะนั้นจึงแทบจะไม่มีอะไรให้ศึกษาใหม่แล้ว เพราะมีผลการศึกษาที่ชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลคงต้องเข้าใจว่าทำไมสังคมถึงมีคำถาม ในความไม่ชัดเจน
วันเดียวกัน
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันถึงกรณี 2 รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่พอใจเรื่องการแบ่งงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตนเองไม่มีปัญหากับ รมช.เกษตรฯ ทั้ง 2 คน อย่าไปมองอย่างนั้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต้องดูทุกกรมทุกหน่วยงาน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องภายในที่พูดคุยกันได้ ขอสื่อมวลชนอย่าพยายามยุยงให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เป็นเรื่องภายในบ้าน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องแก้ไข หลายเรื่องที่ไม่เข้าใจต้องอธิบาย การบริหารราชการแผ่นดินมีนายกฯ เป็นผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องน้อมนำนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปบริหารจัดการ เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องนำปัญหามาแก้ไข อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตนเองจะจัดการทันที ส่วนแผนระยะกลาง และระยะยาวต้องมาหารือกับพี่น้องข้าราชการ
"จะไม่มีการทบทวนคำสั่งใหม่ เพราะก่อนที่จะมอบหมายงานได้คุยกับผู้ใหญ่แต่ละพรรคแล้ว ไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการ เป็นเพราะสื่อมวลชนไปสร้างประเด็นว่าการแบ่งงานของนายกฯ ไม่เป็นธรรม ในฐานะที่เป็นแค่รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้เป็นรองนายกฯ มองว่านายกฯ มอบหมายงานให้ใครก็ควรจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เช่นเดียวกันกับที่ตนเองมอบหมายงานกรมใดให้รัฐมนตรีช่วยก็ต้องทำให้ดีที่สุด แข่งกันที่ผลงาน ย้ำว่าไม่มีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และไม่เกี่ยวกับที่รองนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยได้คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในหัวตอนนี้มีแต่หน้าตาพี่น้องเกษตรกร ดูว่าเกษตรกรเดือดร้อนอย่างไรแล้วนำมาแก้ไข มากกว่าการเล่นการเมือง" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าว อีกว่า ทั้งนี้ ตนเองจะดูว่า รมช.เกษตรฯ ทั้ง 2 ท่านทำงานในสิ่งที่มอบหมาย คืบหน้าเปลี่ยนแปลงในทิศทางเชิงบวกอย่างไรบ้าง อย่ายึดติดเพราะ 6 เดือนอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ ตนเองดูที่ผลงาน หากทำงานดีก็จะมอบให้มากกว่านี้ เพราะการทำงานต้องมีการประเมิน ในฐานะ รมว.เกษตรฯ ยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการประเมินการทำงานของตนเอง และตนเองจะประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ถ้าไม่มีความคืบหน้าในฐานะเจ้ากระทรวงก็ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กร ฉะนั้นจะไม่ตอบโจทย์ ส่วนที่นายไชยา บอกว่า กลัวตนเองจะเหนื่อยนั้น ไม่ต้องกลัวยังหนุ่มยังแน่น สมองตนเองยังไปอีกไกล ไม่ต้องกลัว