วันที่ 19กันยายน 2566 นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า  เมื่อวานนี้ได้เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานระดับกอง/สำนัก ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุม โดยถ่ายทอดสดการประชุมไปยังศาลากลางจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านระบบ DOPA Channel

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พวกเราทุกคนเป็นคนที่คุ้นเคยกัน เราทุกคนเป็นพี่ เป็นน้อง  "เป็นทีมมหาดไทย" ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 จึงถือได้ว่ารัฐบาลมีภารกิจและอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ จึงเป็นคำสัญญาที่เราจะต้องทำร่วมกันเพื่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งก็คือพี่น้องประชาชนของเรา ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้นำแนวนโยบายของรัฐบาลสู่นโยบายสำคัญ 10 ประเด็น ของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำเอาแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้หลักการทรงงาน การนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการและการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านและชุมชน

2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ปัจจุบันประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อน้ำดื่ม ดังนั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงขอให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับภารกิจจากเดิมที่ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค (น้ำใช้) ให้เพิ่มการผลิตน้ำประปาสะอาดดื่มได้ รวมทั้งขอให้จัดเตรียมความพร้อมรถน้ำดื่มน้ำใช้เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำในชุมชน ให้บริการน้ำดื่มสะอาดแก่ประชาชนฟรี ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ให้ใช้รถบรรทุกน้ำ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ให้บริการประชาชนฟรี และในระยะยาว การประปาต้องพัฒนา ปรับปรุง ให้ประชาชนเชื่อมั่น น้ำประปาดื่มได้

3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ เน้นการสร้างต้นแบบให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell/ Solar Rooftop ในสถานที่ราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนให้สถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Roadmap) ของแต่ละหน่วยงานเพื่อเป็นแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายน้ำมันของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณาจัดหารถพลังงานสะอาด อาทิ รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาจัดลำดับหน่วยงานที่มีความพร้อมและทำให้เป็นต้นแบบ เพื่อนำไปสู่การขยายผลนะครับ

4. พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยสนับสนุนให้มีการติดตั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย กระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ให้แก่รัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชนสร้างรายได้จากพลังงานสะอาด โดยการจัดตั้งธนาคารคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ทุกจังหวัด เช่น การปลูกไม้ยืนต้น การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับในระดับสากล 

5. การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล แน่นอนว่าเรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจของสังคม เมื่อพูดถึงคำว่า ปราบปรามผู้มีอิทธิพล คนทั่วไปมักคิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร ก็ต้องมาตั้งหลักกัน ว่าคำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ในที่นี้ หมายถึงคนที่ใช้อำนาจที่ตนมีในทางมิชอบ ไม่ว่าจะอำนาจเงิน หรืออำนาจจากสายสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งโดยสามัญสำนึก ทุกคนจะรู้ดีว่าการกระทำอย่างไร คือการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางมิชอบ หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งใดที่ขัดกับความมุ่งหมายนี้ ก็คือสิ่งที่เราต้องใช้กลไกของรัฐในการกำจัดให้สิ้นไป

6. การบริการประชาชนแบบ One Stop Service การมุ่งหน้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล เป็นแนวทางสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติราชการ การทำธุรกรรม เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติราชการ และให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ขจัดช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริตอีกด้วย โดยเราจะยกระดับแพลตฟอร์มที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Service ขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดระบบที่เสถียรและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน

7. การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว หลักการดูแลนักท่องเที่ยวที่สำคัญ คือการสร้าง “ความปลอดภัย  ความสะดวก และแรงดึงดูด” จึงต้องส่งเสริมให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ประชาสัมพันธ์กิจกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยระบบ AI อัจฉริยะ ทั้งในด้านสาธารณภัย อุบัติภัย และความปลอดภัยทางถนน

8. การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย “มุ่งเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เช่น การน้อมนำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต การใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน การพักหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ และแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ท่านดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ขอเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มตลาดมากขึ้น การสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ซึ่งจะนำสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม และนำหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ให้ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยธุรกิจในการสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Economy) ด้วย

9. การแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องเป็นมาตรการเชิงรุก ต้องเน้นป้องกันไม่ใช่ปราบปราม และต้องกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องรับผิดชอบ หากมียาเสพติดในพื้นที่ ผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดทางวินัย ฝ่ายปกครองต้องทำงานเชิงรุกและเชิงรบ เพื่อป้องกันยาเสพติดเข้าพื้นที่ตนเอง ต้องล้อมรั้วเขตปกครองตนเอง หากยาเสพติดอยู่บ้านใคร เจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดฐานปล่อยปละละเลยให้ยาเสพติด ยาบ้า เข้ามาในบ้าน ในพื้นที่ตัวเอง ต้องมองว่าลูกบ้านคือลูกของเรา เราป้องกันลูกของเราอย่างไร ต้องป้องกันลูกบ้านแบบนั้น ใครเอายาเสพติดเข้าบ้านเรา เราจะจัดการเด็ดขาดอย่างไร ใครเอายาเสพติดเข้าพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ เราก็ต้องจัดการเด็ดขาดแบบนั้น ฝ่ายปกครองต้องตื่นตัวและป้องกันยาเสพติดเข้าพื้นที่ตัวเอง ถ้าทุกพื้นที่ป้องกันได้ ยาเสพติดจะไม่มีที่อยู่ในประเทศไทย 

10. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน โดยสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมยกระดับให้ รพ.สต. เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านที่มีคุณภาพ มีความพร้อมในการให้บริการ โดยให้ความสำคัญกับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการ และในประเด็นสังคมผู้สูงวัยนั้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำงานกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้มีสถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น เพื่อบริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ
 เพียงฤทัย/ศรีสะเกษ