ภาคประชาสังคมเริ่มเป็นห่วงคุณภาพชีวิตกับช่วงเวลาอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะวนกลับมาหาคนไทยอีกครั้ง จึงมีการตั้งคำถามกับรัฐบาลใหม่ในการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฏรและรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลได้เตรียมแผนแก้ปัญหาแบบบูรณาการในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพื่อสร้างหลักประกันให้คนไทยมีสิทธิ์เข้าถึงอากาศสะอาดทุกคน 

ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มีการนำเสนอสาเหตุของหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งเป็นการพิจารณาบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-based facts) จากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพิสูจน์จุดความร้อน (Hotspot) ทั้งในประเทศไทย และครอบคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าพื้นที่ป่าเผาไหม้ซ้ำซากและประเภทการใช้ประโยชน์จากที่ดินย้อนหลัง 10 ปี (พ.ศ.2553-2562) เป็นจุดกำเนิดสำคัญของปัญหา คิดเป็น 65% ของพื้นที่ คือ พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะที่มีการเผาใหม่ซ้ำซากแปลงใหญ่ 10 อันดับ ประกอบด้วย ป่าสาละวิน มากกว่า 5 แสนไร่ (ครอบคลุมรัฐฉานของเมียนมา), ป่าแม่ปิง 281 แสนไร่, ลุ่มน้ำปาย 2.12 แสนไร่, แม่ตื่น 1.81 แสนไร่, เขื่อนศรีนครินทร์ 1.66 แสนไร่, ออบหลวง 1.48 แสนไร่, อมก๋อย 1.18 แสนไร่, แม่วะ 1.12 แสนไร่, ห้วยน้ำดัง 1.03 แสนไร่, ห้วยขาแข็ง 1.02 แสนไร่ และป่าศรีน่าน 1 แสนไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.04 ล้านไร่ 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังพบอีกว่าการเผาไหม้ของพื้นที่เกษตรกรรมในที่โล่งคิดเป็น 32% ของพื้นที่ทั้งหมด ในนาข้าวสูงที่สุด 67% ข้าวโพดและการทำไร่เลื่อนลอย 19% ส่วนอ้อย 5% สอดคล้องกับการสำรวจจากดาวเทียมของ GISTDA ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ในเขต 17 จังหวัดทางภาคเหนือ พบจุดความร้อนสูงสุด คือ นาข้าว 56.6% ผิดคาดจากที่โยนความผิดให้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อย ที่มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 10%

จากข้อมูลดังกล่าวชี้ชัดว่าต้นเหตุหลักของหมอกควันและฝุ่น PM2.5 เกิดจากไฟไหม้ป่าและนาข้าว (การเผาตอซังและชีวมวล เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่) ต่างจากที่มีการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุของเกิดหมอกควันทั้งในประเทศและหมอกควันข้ามแดน จากการส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้ขอตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าการเผาจากภาคการเกษตรที่แท้จริงคือ นาข้าว ทั้งที่มีหลักฐานประจักษ์ให้เห็นและเป็นสาระสำคัญที่ต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่พิจารณาจากความรู้สึกและทัศนคติด้านลบ หรือผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง 

ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ข้างต้น (Big Data) จะเป็นต้นทางที่ดีเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นระบบ สนับสนุนการระดมสมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวิเคราะห์ ประเมิน อย่างถูกต้อง แม่นยำ และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุสู่การลดปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองในประเทศอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องพิจารณา เพื่อลดปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ซึ่งไทยควรผลักดันการเจรจาป้องกันฝุ่นพิษในระดับภูมิภาคอาเซียน ที่มีข้อตกลงร่วมกันให้การแก้ปัญหาเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีจากการเผาทุกชนิดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ได้รับการทวนสอบและรับรองตามมาตรฐานสากล รวมถึงติดฉลากสินค้าที่มาจากการเผา ให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจเลือก 

ระยะยาวประเทศไทยต้องประกาศใช้ พระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ......ที่เข้มแข็ง กำหนดแนวทางที่สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและภาคเกษตรกรรม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อแจ้งเตือน ให้อำนาจหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้ตามสถานการณ์ มีบทลงโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนและฟ้องร้องหน่วยที่ละเลยต่อหน้าที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไทยจากการได้อากาศบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การแก้ปัญหาหมอกควันและมลพิษฝุ่น PM2.5 ควรนำแนวทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม เทคนิคทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ ร่วมกับบุคลากรที่มีองค์ความรู้ เพื่อวิเคราะห์ ประเมิน และหาแนวทางที่เหมาะสม พิจารณาร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพติดตามปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด และทำงานร่วมกันต่อเนื่อง เพียงแต่ขอให้การแก้ปัญหาตรงประเด็น อย่าหลงทาง ผลสัมฤทธิ์ก็จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

โดย : พฤกษ์ รุกขพสุธา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม