วันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงผลการประชุมร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วานนี้ว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธาน 3.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคณะทำงาน 4.ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นคณะทำงานและเลขานุการ โดยการตั้งคณะทำงานครั้งนี้ มาจากนายกรัฐมนตรีซึ่งมองว่ากรุงเทพมหานครเป็นแหล่งเศรษฐกิจ มี GPP (Gross Provincial Product : ตัววัดการขยายตัวของสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) 33% ของ GDP (Gross Domestic Product : ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ในประเทศไทย หรือมีมูลค่า 5.3 ล้านล้านบาทจากทั้งหมด 16 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของไทย มาจาก กทม. 30% มูลค่า 3 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท มีประชากร 15% หรือ 8-10 ล้านคน จากทั้งหมด 66 ล้านคน มีบริษัทจดนิติบุคคล 36% หรือ320,000 ราย จากทั้งหมด 890,000 ราย
นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการเข้าพบ ได้รายงานกับนายกรัฐมนตรี ว่า การทำงานที่ผ่านมา กทม.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการอย่างสมบูรณ์ ต้องอาศัยการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการประสานงานกันด้วยดี แต่ขาดการบูรณาการในระยะยาวร่วมกัน จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นการตั้งคณะทำงานดังกล่าว จึงมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและปัญหาระยะยาว เช่น แก้ พรบ.กทม. ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน โดยคณะทำงานดังกล่าวมีขนาดเล็กจึงมีความคล่องตัวในการขับเคลื่อนและตัดสินใจ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนของ กทม.ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย 1.การจราจรเช่น การทำผิดกฎหมาย จอดในที่ห้าม การลดจุดฝืดที่พบกว่า 127 จุด การกำกับดูแลการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีราคาเหมาะสม 2.เรื่องเศรษฐกิจ เช่น การจัดหาพื้นที่ของรัฐเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยค้าขาย เช่น ใต้ทางพิเศษ รวมถึง การส่งเสริมพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และสนับสนุนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน รวมถึง การจัดทำ Special Economic Zone ในกทม.เพื่อกระตุ้นการลงทุน 3.การท่องเที่ยว เช่น ดึงดูดบริษัทการท่องเที่ยว ดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ดูแลความปลอดภัยด้านต่าง ๆ เช่น การเดินทาง การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ตุ๊ก ๆ แท็กซี่ ไกด์ผี ที่พักคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการจัดงาน Winter Festival ในช่วง พ.ย.-ธ.ค.นี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี
4.PM2.5 เช่น มาตรการควบคุมการเผาข้าว อ้อย ผลิตผลทางการเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย เช่น รถ EV และน้ำมันมาตรฐาน EURO5 6. รวมถึง การนำสายสื่อสารลงดิน เช่นเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช การไฟฟ้านครหลวง NT และผู้ประกอบการในการร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสาร
นายชัชชาติ กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานครั้งนี้จะช่วยกำหนดปัญหาต่าง ๆ เพื่อประสานการแก้ไขได้รวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น แยกชัดว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบพื้นที่ใด เรื่องใด ผ่านการสนับสนุนข้อมูลที่กทม.รวบรวมไว้ เนื่องจากเป็นคณะทำงานโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญและมีการทำงานที่รวดเร็ว จะเห็นได้ว่า หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็นัดหมาย กทม.เข้าพบเพื่อแก้ไขปัญหาทันที ซึ่งไม่ได้เน้นการใช้งบประมาณ เน้นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจปัญหาตรงกับกทม. คาดว่าจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากอย่างไรก็ตาม เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานต่อไป