วันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2566 ว่า เรื่องสำคัญหนึ่งในการประชุม คือ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ โดยนายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย รายงานว่า ปัจจุบัน กทม.มีการแพร่ระบาดเช่นเดียวกับจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย เริ่มพบตั้งแต่เดือน ก.ค. ตลอดจนเดือน ส.ค.-ก.ย.66 พบผู้ป่วยมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ถือเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย พบบ่อยในช่วงอายุ 0-16 ปี

นายสุนทร รายงานว่า สถานการณ์การระบาดของโรคในกทม. ตั้งแต่เดือน มี.ค.-15 ก.ย.66 พบมีการระบาดในโรงเรียน 14 แห่ง รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ เช่น ค่ายทหาร ศาสนสถาน บ้านพักคนชรา รวม 17 แห่ง ใน 11 เขต ไม่พบผู้เสียชีวิต เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งเป้าบริการฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพฯ จำนวน 317,650 ราย ต้นเดือน ก.ย. ฉีดไปแล้ว 263,005 ราย หรือคิดเป็น 83% เน้นกลุ่มเด็ก คนไข้ โรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ โดยจะเร่งรัดให้ครบ 100% เร็วที่สุด

นายสุนทร กล่าวว่า ประชาชนสามารถเข้ารับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยการจองผ่านแอพพลิเคชั่นกระเป๋าตังค์ หรือเข้ารับบริการด้วยตัวเอง (Walk-in) หากศูนย์บริการสาธารณสุขมีวัคซีนพร้อมก็จะบริการให้ทันที แต่ทางที่ง่ายที่สุดควรจองผ่านแอพฯ กระเป๋าตังค์เนื่องจาก สปสช.กำหนด โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 0-ผู้สูงอายุ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องดูแลเรื่องความเพียงพอของวัคซีน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา กำลังทบทวนว่า กทม.จะประกาศเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ต้องให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม.พิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีโรค RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องดูแลเรื่องความสะอาดและล้างมือเพื่อป้องกัน