"เศรษฐา" เผยทยอยออกมาตรการช่วยลดรายจ่ายประชาชน ย้ำ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ไม่น่าเกินไตรมาส 1 ปี 67 หวังให้คนกลับบ้าน สร้างสถาบันครอบครัวเข้มแข็ง ชี้ ไทยมีจุดแข็งดีมากมาย เตรียมคุยต่างชาติชวนลงทุน

 

วันที่ 18 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา Thairath Forum 2023 “Future Perfect เปิดมุมคิดพลิกอนาคต” ดำเนินรายการโดย นายสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์นามปากกา หนุ่มเมืองจันท์ โดยในช่วงหนึ่งตอบคำถามประเด็นนโยบายเศรษฐกิจภาพรวมภายใน 2 ปีจะได้เห็นอะไร ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดี ค่าใช้จ่ายสูง เงินในกระเป๋าน้อยลง อะไรที่เราทำได้ก่อนก็จะทำ เรื่องลดค่าใช้จ่าย หรือพักหนี้เกษตรกร 

ที่ผ่านมามีการพักหนี้เกษตรกร ไปแล้ว 13 ครั้ง ภายใน 9 ปี พักแล้วพักอีก แต่ยังเดือดร้อนแล้วเดือนอีก และเดือดร้อนต่อไปเรื่อยๆ แสดงว่าภาพใหญ่ในระยะกลาง ระยะยาว ไม่มีการบูรณาการอย่างชัดเจน แต่การพักหนี้ก็จำเป็น ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อคิดเห็นมาว่า หากพักแล้วพักอีกโดยไม่มีแผนระยะยาวที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ อยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ก็ต้องกลับมาพักอีก จากการลงพื้นที่พี่น้องเกษตรกรไม่ได้อยากพักหนี้ เขาก็อยากอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี สามารถใช้หนี้ได้ แต่เรื่องการพักหนี้เป็นเรื่องแรกที่จำเป็นที่ต้องทำ ย้ำนโยบายของตนว่า อะไรที่ทำได้ทำก่อน และมีการมอบหมายการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วว่าจะมีการทำอะไรอีก อาทิ การผ่อนหนี้ หนี้รถ หนี้ส่วนตัว อาจจะมีนโยบายทยอยออกมา การบำบัดทุกข์บำรุงสุข ระยะสั้นเป็นเรื่องสำคัญสุด ช่วยลดรายจ่ายประชาชน

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึง การเพิ่มรายได้ระยะสั้นที่สุด คือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พยายามจะให้จบเร็วที่สุด ไม่น่าเกินไตรมาส 1 ของปี 2567 ยืนยันว่าตรงจากภาครัฐสู่ประชาชน ไม่มีการเข้ากระเป๋าใคร รับรองและรับประกันได้ว่าไม่มีละลายระหว่างทางแน่นอน 

“หลายท่านใช้คำว่าประชานิยม เราคงไม่มาเถียงว่าประชานิยมหรือไม่ เพราะหลายรัฐบาลก็มีการทำเรื่องนี้มา มีการเอาเงินใส่กระเป๋าพี่น้องประชาชน เวลาใส่กระเป๋าไปแล้ว เขาก็ใช้ในระยะเวลาที่เขาอยากจะใช้ อาจจะวันเดียว อาจจะปีนึง อาจจะเก็บ หรือไปใช้ในหัวเมืองใหญ่ๆ เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ตรงนี้ก็ไม่ได้ไปตอบสนองกับเรื่องของการขยายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ดิจิทัลวอลเล็ตเรากำหนดรัศมีในการใช้ ต้องมาลงรายละเอียดว่ารัศมีคืออะไร อย่างไร” 

เมื่อถามว่าน่าจะเกิน 4 กิโลเมตรได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ไม่แน่ อย่างคนอยู่ อ.เมืองเชียงใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องเกิน ส่วนคนอยู่รอบนอกอาจจะเกินได้ แต่ไม่อยากให้เกินมาก เพราะอยากให้พี่น้องประชาชนที่ไปทำงานในหัวเมืองใหญ่ๆ กลับไปอยู่บ้านบ้าง กลับไปเยี่ยมเยียน กลับไปจับจ่ายใช้สอยบ้าง ซึ่งเวลา 6 เดือนคิดว่าเพียงพอ สถาบันครอบครัวจะได้แข็งแกร่งขึ้นด้วย มองว่าเรื่องนี้สำคัญที่หลายท่านอาจจะมองข้ามไป ซึ่งเราพยายามมองทุกมิติ 

ทั้งนี้ เรื่องระยะเวลา ระยะทาง และประเภทสินค้าในการใช้ก็สำคัญ แต่ยืนยันว่าเป็นวันไทม์ (One time) หนเดียว ปีเดียว ส่วนงบประมาณ 560,000 ล้านบาท อาจจะเพิ่มหรือลดแล้วแต่จำนวนประชากร ไม่ใช่งบผูกพัน เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น หวังให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

“ถ้าผมสามารถประกาศ สมมตินะครับว่าเป็น 1 กุมภาฯ เนี่ย ผมมั่นใจนะครับว่า เม็ดเงิน 560,000 ล้าน ที่จะเข้าไปในตลาดวันที่ 1 กุมภาพันธ์เนี่ย ผมคิดว่าก็คงมีหลายๆ ธุรกิจที่เร่งผลิต เร่งจ้างงาน เพื่อเอาสินค้ามารองรับ ซึ่งจริงๆ แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเกิดวันก่อนที่ดิจิทัลวอลเล็ต จะถูก Launch (ปล่อย) ออกไปด้วย” 

นายเศรษฐา ยังขอกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า การแข่งขันเสรีเป็นเรื่องที่เหมาะสม จะได้ทำให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เป็นความหวังว่าจะทำได้หรือไม่ โดยขอรอให้เหมาะสมและนิ่งก่อน แล้วจึงจะประกาศได้

ต่อมาเรื่องการลงทุนต่างประเทศ นายเศรษฐา ระบุว่าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เราจะถ้าไม่สามารถยกระดับ GDP ได้ ถ้ามัวแต่หยดน้ำข้าวต้ม GDP จะโตได้ก็ต่อเมื่อยกระดับการลงทุนของประเทศให้มากขึ้น โดยการเดินทางไปร่วมเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) คราวนี้ จะไปพูดคุยบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกให้มาลงทุน ซึ่งรัฐบาลที่แล้วมีปูทางไว้บ้าง แต่เราจะทำมากขึ้นเพื่อให้การลงทุนมาสู่ประเทศ 

เมื่อถามถึงเป้าการลงทุน นายเศรษฐา กล่าวตอบว่า พูดลำบาก เพราะไม่อยากลอกการบ้านรัฐบาลที่แล้ว เพราะทำงานไว้ดีก็มีบ้าง บางภาคส่วนมีการลงนามเอ็มโอยูไปแล้ว หรือกำลังจะลงนาม เป็นหน้าที่ตนที่ต้องไป Facilitate เพื่อให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ไปประกาศว่าประเทศไทยพร้อมในด้านการลงทุน รวมถึงเรื่อง FTA (เขตการค้าเสรี) ด้วย ซึ่ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีประสบการณ์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยที่จะขายให้ต่างประเทศมาลงทุนมีอะไรดีกว่าประเทศในอาเซียน นายเศรษฐา ตอบว่า ไทยมีดีหลายอย่าง ทั้งจุดที่ตั้งประเทศ ความพร้อมสนามบิน ท่าเรือ กฎหมาย ภาคเอกชนแข็งแกร่งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึง สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก และเรื่องที่ไม่ได้มีการพูดถึง อย่าง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างประเทศที่จะเข้ามา เรามี World-Class Healthcare หลายโรงพยาบาลเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว มาดูแลรักษาตัวเอง รวมไปถึงโรงเรียนนานาชาติที่สำคัญมาก เพราะหลายคนกังวลว่าหากย้ายประเทศจะไม่มีโรงเรียนให้ลูก แต่ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติระดับโลกหลายโรงเรียน โดยจะไปพูดคุยเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น 

“เรื่องชีวิตความเป็นอยู่เป็นเรื่องสำคัญ เรามีพร้อม ไม่ว่าจะเป็น sea sand and sun ทุกอย่างพร้อมหมด อาหารการกิน รอยยิ้ม เรื่องของกฎหมายยังมีปัญหาอยู่ แต่ประเทศอื่นก็มีปัญหา เราก็จะพยายามเป็นรัฐสนับสนุนทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น”

นายสรกล ถามไปถึงการแถลงนโยบายที่ให้ความสำคัญนิติธรรมสูงมาก โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นการประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา ถ้ากฎหมายไม่ระบุไว้ ก็สามารถทำได้ กฎหมายที่ค้างมาจากรัฐบาลอื่นๆ ก็ต้องมาดูกัน ถ้าสามารถยกเลิกได้ก็ให้ยกเลิกไป เพื่อเอื้อประโยชน์นักลงทุนเข้ามา แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและความถูกต้อง อะไรที่ต้องแก้ไขก็เป็นไปตามกระบวนการเข้าสภาอย่างถูกต้อง แต่กำชับให้รวดเร็ว เพราะปัจจุบัน ทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นคู่แข่งที่สำคัญของเรา

นายกรัฐมนตรียังกล่าวไปถึงเรื่องระยะยาว อย่างการเพิ่มรายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว ที่ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรเป็นภาคส่วนที่สำคัญและน่าเห็นใจมาก มีอยู่หลายสอบล้านคน มีองค์ความรู้อีกมากที่ยังไม่ได้ให้เกษตรกร เช่น ต้นยางพารา เมื่อเทียบมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย เรามีผลผลิตต่ำกว่า เพราะเรายังแก้ไม่ถูกจุด อาทิ การให้ปุ๋ย การปรับค่าดินต่างๆ ต้องให้ความรู้เพิ่มเติม ส่วนการปลูกข้าว การส่งออกเราต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ต้องช่วยกันดูแล รายได้ของชาวนาก็เป็นเรื่องสำคัญ 

ส่วนเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญ นาปรังจะมีปัญหา เราไปบอกเขาว่าห้ามปลูก ปลูกไม่ได้ หรือปลูกไปน้ำก็ไม่มี เขาถามกลับมาแล้วจะให้กินอะไร รายได้มาจากไหน ตรงนี้เป็นปัญหาซึ่งเราเองตระหนักดีว่า Alternative crops (การปลูกพืชทดแทน) มีอะไรได้บ้าง เช่น ไปเสนอให้ปลูกถั่วเหลือง กรมที่จะดูแลเรื่องเมล็ดพันธุ์มีพอหรือไม่ สต๊อกเพียงพอหรือไม่ เรานำเข้าถั่วเหลือง GMOs แต่เมล็ดพันธุ์ที่จะให้เกษตรกรปลูกเป็น GMOs ไม่ได้ ความต้านทานต่ำ ถูกแมลงกิน ทำไมจึงไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งถั่วเหลืองเป็นพื้นที่ให้คุณค่า พืชที่จะปลูกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือข้าวโพด จะได้ผลประโยชน์กับหน้าดิน เพราะรากของถั่วเหลืองมีไนโตรเจนสูง ซึ่งฝ่ายวิชาการเกษตรต้องลงไปเพิ่มความรู้อย่างรวดเร็วที่สุด เป็นการเพิ่มรายได้ของกลุ่มคนที่ปริมาณสูง แต่มี Contributions to GDP ต่ำ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

“เราไม่ได้พูดถึงเรื่องไปเลือกตั้งหนนี้ หรือว่ารัฐบาลนี้ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องของประกัน จำนำ หรือว่าจ้างผลิต วาทกรรมของแต่ละการเมือง เราอย่ามาพูดกันดีกว่าตรงนี้ เราไม่ใช้ เราจะเพิ่มรายได้ เปิดตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดที่แอฟริกา ตะวันออกกลาง มีการเปิดตลาดน้อยมาก ประเทศเราเป็นประเทศที่ควรจะมี Food security (ความมั่นคงด้านอาหาร) สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สามารถอยู่ได้เองในภาวะ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ที่เข้มข้นร้อนแรง ตรงนี้ถือเป็นจุดขายสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศ” 

นอกจากนี้ เรื่อง Halal Food (อาหารฮาลาล) นายเศรษฐา ระบุว่า ไทยมีประชาชนเป็นมุสลิมจำนวนมาก เรามีขีดความสามารถสูงมากในการบุกเบิกเรื่องธุรกิจตรงนี้ ไปเปิดตลาดให้พี่น้องมุสลิมที่ประเทศไทยได้บริโภคเอง และก็หวังว่าจะมีเหลือมากเพื่อส่งออกไปตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา ซึ่งมีประชากรทางมุสลิมสูงมาก ในหลายรัฐบาลผู้นำประเทศไทยเดินทางไปทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง เปิดประตูการค้าค่อนข้างน้อย เราต้องให้ความสำคัญตรงนี้ อาจต้องมีการให้ KPI ว่า หากทูตจะไปอยู่ไนจีเรีย ซึ่งจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะได้ทวีคูณขึ้นเยอะ เหมือนตำรวจที่ไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ในส่วนนี้ต้องพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ถ้าไปอยู่ประเทศที่ ณ วันนี้ ยังไม่เป็นที่ต้องการ แต่อีก 10 ข้างหน้าจะเป็น Top 5 มหาอำนาจของโลก เพราะมีหลายเรื่องที่ดี เราต้องไปเปิดตลาด ต้องให้ความสำคัญก่อน อย่ามีแต่คำอธิบายว่าทำไมไม่ควรไป เช่น ไปทำการค้ากับแอฟริกา มีเรื่อง Clearinghouse ซึ่งอยู่ที่ไคโร ประเทศอียิปต์ ต้องไปพูดจาจ่ายเงินให้เหมาะสม ผู้ประกอบการไทยไปค้าขายจะได้รับการ Payment ที่ถูกต้อง มีหลายเรื่องและหลายมิติที่อยากแก้ไขและช่วยกันทำงาน