ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 66 ลงจากร้อยละ 4.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 4.2 ในปี 67 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 4.5 คาด ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 68 โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปร
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว แม้ว่าในระยะที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว เราคาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น
โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน โดยเฉลี่ยมีการเดินทางเข้ามาเดือนละ 2.2 ล้านคน เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3 ล้านคนตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้ ทำให้ทั้งปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน ทั้งนี้ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวเคยอยู่ในระดับเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจึงปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจากร้อยละ 3.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของจีดีพี การขาดดุลปีงบประมาณคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อจีดีพี ในปี 2567 จากร้อยละ 3.8 ต่อจีดีพี ในปี 2566
ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 น่าจะล่าช้า ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้จะมีทิศทางอย่างไร จะยังคงเป็นสิ่งที่ต้องมีการติดตามดู สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลงจากร้อยละ 4.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 4.5 ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 1.7 โดยคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.3 ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่ร้อยละ 1.4 อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า
"การค่อยๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการคลังและเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงกระนั้นอาจจะมีการกลับมาพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ นโยบายการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนกว่านี้น่าจะทำให้เห็นความชัดเจนในทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยิ่งขึ้น