ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระแสตื่นตัวในการเปลี่ยนจากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้นำของแต่ละองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความกระตือรือร้นและให้ความสำคัญเรื่องลดปัญหาโลกร้อน และการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

ทั้งนี้ กทม.ในยุคของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ได้สนับสนุนให้ประชาชนในกรุงเทพฯใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเตรียมจัดหาสถานที่จัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า อาทิ สำนักงานเขต โรงพยาบาล สวนสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั้งยังมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนรถของ กทม อาทิ รถเก็บขยะมูลฝอย  รถบรรทุกน้ำ และรถทำความสะอาดถนน ที่กำลังจะทยอยหมดสัญญาเช่า เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ในปีงบประมาณ 2567

ล่าสุดจากการเข้าพบ ผู้ว่าฯกทม.ทราบว่ามีแนวคิดจะเปลี่ยนรถขยะมาเป็น EV เพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของ กทม.ลง แต่ยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณและความคุ้มค่า ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นทางสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มร.สส. จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล กทม. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักงานเขตดุสิต ดำเนินโครงการศึกษาทดสอบความคุ้นค่าการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า 100% และการจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถเก็บขยะไฟฟ้า โดยขอสนับสนุนรถขยะไฟฟ้าจากเอกชนมาใช้ในการทดสอบ และมี บริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการรับรองมาตราฐาน

ผศ.ดร.มะโน กล่าวอีกว่า จากผลการดำเนินงานทดสอบความคุ้มค่าของรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า 100% ในพื้นที่จริง โดยยึดแนวทางตามมาตรฐานสากล ISO 14067 พบว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกำลังขับขึ้นเนินสะพานลาดชันได้ดีมากและสามารถบรรทุกขยะได้ถึง 5 ตันในรอบเดียวทำให้ลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งไม่มีของเหลวรั่วไหลหรือน้ำขยะเรี่ยราดลงพื้นผิวจราจรให้เชื้อโรคแพร่ระบาดสู่ประชาชน และลดเสียงดังจากกระบวนการบีบอัดขยะได้เกือบ 100% ที่สำคัญช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่ารถน้ำมันกว่า 40% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของ PM2.5 ได้มากกว่า 90 % นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานเก็บขยะและพี่น้องชาว กทม.ไม่ต้องสูดดมควันพิษอีกต่อไป  

“ส่วนเรื่องความปลอดภัยที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีนวัตกรรมรถไฟฟ้ารุดหน้าไปมากความปลอดภัยยิ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งยังได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้กระแสรถไฟฟ้าเป็นที่แพร่หลาย มีการจดทะเบียนรถไฟฟ้ามากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก็ได้รับความนิยมบริษัทขนส่งชั้นนำต่างหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และที่ใกล้ตัวคนกรุงฯที่สุดคือรถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการอยู่ใน กทม.กว่า 3,000 คัน ยังไม่เห็นว่าจะมีอันตรายอะไรในทางกลับกันคนกรุงเทพจะได้หายใจได้อย่างเต็มปอด หาก กทม.จะเปลี่ยนรถขยะเดิมที่ใช้อยู่มาเป็นรถขยะไฟฟ้า ถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลและมีวิสัยทัศน์ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดมลพิษ สอดคล้องกับนโยบาย  "กทม.ปลอดคาร์บอน BMA Net Zero" แล้ว คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการควบคุมและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังสามารถเทรดกลับมาใช้ประโยชน์สาธารณะให้พี่น้องชาวกรุงเทพได้อีกช่องทางด้วย”