นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามโครงการถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข10) ที่บริเวณเลียบคลองประปา ว่า โครงการนี้เป็นโครงการตั้งแต่ปี 2565 มีจุดประสงค์สร้างเส้นทางลัดเริ่มต้นจากภายในศูนย์ราชการฯสู่ถนนประชาชื่น สามารถออกถนนแจ้งวัฒนะได้ โดยจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองประปาสู่ถนนประชาชื่น คลองส่งน้ำประปา สถานีสูบน้ำ และการสร้างแก้มลิงเชื่อมต่อกับพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ปัจจุบันมีความคืบหน้า 25.51% ที่ผ่านมามีความล่าช้าจากการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภค คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จ พ.ค.67

สำหรับโครงการถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข10) รายละเอียดโครงการระบุว่า เกิดขึ้นเพื่อรองรับการจราจรของโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย เพิ่มทางเลือกเส้นทางเข้าออกด้านตะวันตกของศูนย์ราชการฯ สำหรับประชาชนที่จะเข้ามารับบริการ ปัจจุบันเส้นทางที่ใช้สัญจรมี 2 เส้นทางคือ ด้านเหนือออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ และด้านตะวันออกผ่านถนนหมายเลข 8 ออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิต โดยที่ถนนหมายเลข 10 จะเชื่อมต่อศูนย์ราชการฯ ไปทางตะวันตกบรรจบกับถนนประชาชื่น จะมีการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 20 เมตร พร้อมสะพานข้ามคลองประปา ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำ ป้ายและเครื่องหมายจราจร และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง ระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน ปี 2564-2565 นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น จากการประปานครหลวงถึงถนนแจ้งวัฒนะ (ถนนหมายเลข11) ซึ่งกำลังจะลงนามสัญญาก่อสร้างในปีงบประมาณ 2566 เพื่อขยายถนนเลียบคลองประปาจาก 2 เลน เป็น 4 เลน และการปรับปรุงบ่อสูบน้ำภายในศูนย์ราชการฯ เพื่อระบายน้ำได้ดีขึ้น

สำหรับโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น จากการประปานครหลวงถึงถนนแจ้งวัฒนะ (ถนนหมายเลข11) รายละเอียดโครงการระบุว่า เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนประชาชื่นช่วงเชื่อมต่อกับถนนแจ้งวัฒนะ (เลียบคลองประปา) เนื่องจากถนนประชาชื่นมีขนาด 4 ช่องจราจร จนมาถึงบริเวณด้านหน้าการประปานครหลวง ลดลงเหลือ 2 ช่องจราจร เกิดปัญหาถนนคอขวดทำให้การจราจรติดขัดบนถนนประชาชื่น จึงมีแผนขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร กว้าง 20 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำ ป้ายและเครื่องหมายจราจร และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง รวมระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ใช้งบประมาณรวม 420 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน ปี 2566 - 2567