นายกรัฐมนตรี รับฟังปัญหาผลกระทบเครื่องบิน สนามบินเชียงใหม่ พร้อมตั้งใจเดินหน้าสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2
วันนี้ (17 ก.ย. 66) ที่ หอประชุมเทศบาลเมืองแม่เหียะ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ในกรณีการขยายเวลารับเที่ยวบินเป็น 24 ชั่วโมง ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ ให้การต้อนรับ และมีประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่กว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
ในที่ประชุม ตัวแทนประชาชน ได้เสนอความคิดเห็น ปัญหาและผลกระทบจาก การขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินเชียงใหม่ ทำให้ประชนได้รับผลกระทบทั้งปัญหาเรื่องฝุ่นควัน หลังคาร่วง และปัญหาเรื่องเสียง โดยประชาชนได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ทำให้มีความกังวลต่อการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น รวมถึงขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และที่ดินทำกินของประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบข้อเสนอแนะและเรื่องร้องเรียนของประชาชน ว่า จะให้ AOT เร่งเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทันที โดยการขยายสนามบินเชียงใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะสั้น ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ในอนาคต และจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างเต็มความสามารถ
ขณะที่ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ระบุว่า AOT มีมาตรการชดเชยพื้นที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบัน สนามบินเชียงใหม่มีเที่ยวบินหลังเวลา 20:00 น ประมาณ 30 เที่ยวบิน โดยการขยายเพิ่มจำนวนเที่ยวบินช่วงหลังเที่ยงคืน เป็นเที่ยวบินบินยาวระหว่างประเทศ จะทำให้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จะมีการควบคุมปริมาณเที่ยวบิน เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการศึกษาข้อมูล เพื่อการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดยจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 ปีในการศึกษาข้อมูล