เงินบาทมีโอกาสทะลุ 36 บาทหลังอ่อนค่าสุดรอบ 9 เดือน/หุ้นไทย 1,510-1,565 จุด เกาะติดผลประชุมเฟด-ทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามค่าเงินเยนที่มีแรงหนุนจากคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระบุว่า BOJ อาจสามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย.นี้ แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบถัดๆไปในปีนี้

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย.2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.30-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC, BOJ และ BOE การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซน ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ และความหวังว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่แรงหนุนหุ้นไทยก็ยังคงจำกัด ซึ่งทำให้ดัชนีฯ ย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ในระหว่างที่รอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน

สัปดาห์ที่ 18-22 ก.ย.2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม FOMC,BOJ และ BOE ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนก.ย. ของจีน