กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัย ให้แก่ โครงการฝึกอบรม The Metaverse โลกเสมือนจริง ที่กลายเป็นโลกสมจริง (Merge Reality Become Reality) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่สร้างสรรค์ไอเดียเมตาเวิร์ส พร้อมโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปต่อยอดได้ แข่งขันหาทีมผู้ชนะ โดยไอเดียมูเตลูบนโลกเมตาเวิร์สคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง พร้อมวางแผนต่อยอดเป็นธุรกิจเมตาเวิร์สในอนาคต
ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง หัวหน้าโครงการฝึกอบรม The Metaverse โลกเสมือนจริงที่กลายเป็นโลกสมจริง (Merge Reality Become Reality) และผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก และปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เมตาเวิร์ส หรือจักรวาลนฤมิต เป็นโลกเสมือนที่ดึงข้อมูลจากโลกจริงมาสู่การสร้างโลกเสมือน ซึ่งทั้งโลกจริง และโลกเสมือนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ แต่โลกเสมือนสามารถเติมจินตนาการลงไปได้อย่างไม่รู้จบเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า User Experience เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์บนโลกเสมือนเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าไปท่องเที่ยว หาประสบการณ์แปลกใหม่ และส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เมตาเวิร์สจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ในเชิงธุรกิจ เมตาเวิร์สเข้ามามีบทบาทในด้านการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมได้หลากหลาย
อาทิ อุตสาหกรรมเกมที่มีการใช้ Virtual Reality หรือ VR ทำให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงตัวเกมได้ รวมถึงการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกมผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่รองรับการใช้ชีวิตจริง อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่นำเมตาเวิร์สมาใช้ได้ดี คือ อุตสาหกรรมความบันเทิงที่หลายคนเลือกชมคอนเสิร์ตผ่านโลกเมตาเวิร์ส ทำให้ได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่โดยไม่ต้องเดินทางไกล ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็สามารถขายสินค้าต่าง ๆ ของตนเองได้ผ่านโลกเสมือน เรียกว่า win-win ทั้งสองฝ่าย"
ผศ. ดร.วรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฝึกอบรม The Metaverse โลกเสมือนจริง
ที่กลายเป็นโลกสมจริง (Merge Reality Become Reality) เกิดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาเรื่องเมตาเวิร์สอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาเมตาเวิร์สได้ พร้อมทั้งเข้าใจการสร้างเมตาเวิร์สให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน โดยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซอฟต์แวร์การสร้างโครงสร้างสามมิติ การแสดงผลผ่านหน้าจอมือถือ รวมถึงให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจและการนำเสนอผลงานเพื่อต่อยอดสร้างรายได้ โดยจะเปิดอบรมใน 4 ภาคทั่วประเทศไทย เมื่อสิ้นสุดการอบรม จะมีการจัดประกวดออกแบบเมตาเวิร์สจากเหล่านักศึกษาเพื่อคัดเลือกตัวแทนของแต่ละภาคมาอบรม และแข่งขันรอบสุดท้ายที่กรุงเทพฯ โดยมีทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ความสนใจมากกว่า 40 ทีม 160 คน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในเทคโนโลยีเสมือนจริงที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน และอนาคตของประเทศไทยที่จะมีผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับมิติทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
นายธนพล ภู่อ่วม ตัวแทนทีม Ohsoholy ผู้ชนะการแข่งขันโครงการฝึกอบรมThe Metaverse โลกเสมือนจริง ที่กลายเป็นโลกสมจริง (Merge Reality Become Reality)
เปิดเผยว่า ไอเดียที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นการรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศมาไว้บนโลกเสมือนและเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาสามารถไปเยี่ยมชมรวมถึงไหว้พระขอพรได้บนโลกออนไลน์ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปมูเตลูหลายที่ พร้อมทั้งตลาดน้ำจำลองขายของในชุมชน พิพิธภัณฑ์ และตลาดพระเครื่อง โดยไอเดียนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อของคนไทยที่นิยมเดินทางไปหลายที่ เพื่อกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ในการแข่งขันครั้งนี้นอกจากต้องออกแบบเมตาเวิร์สแล้ว ยังต้องออกแบบโมเดลธุรกิจด้วย ทำให้ได้พัฒนาทักษะความรู้ในหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน ในอนาคตจะมีการต่อยอดโปรโตไทป์ และนำเงินรางวัลที่ได้รับมาต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นสตาร์ทอัป สร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับทีมได้ โดยทีมมองว่าสิ่งที่เราพัฒนาออกมาเป็นหนึ่งในมิติของซอฟต์พาวเวอร์ โดยสามารถต่อยอดเป็นสตาร์ทอัปเพื่อผลักดันสังคมและซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้แข็งแกร่งขึ้นได้
"การพัฒนาโลกเสมือนของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นเพียงการตอกย้ำความเชื่อของคนไทย
ในโลกเสมือนจริงเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คนทั่วไปได้รู้จักกกับสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเพิ่มเติม ต่อยอดไปสู่การไปเยือนสถานที่จริง และสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เหล่านั้นได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดพื้นที่ในการพบปะของคนที่มีความสนใจเดียวกัน สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อีกทั้งยังช่วยให้วัด สถานที่ทางศาสนาสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการประชาสัมพันธ์สร้างกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งเมตาเวิร์สไม่ได้ขับเคลื่อนแค่เพียงโลกออนไลน์ในด้านความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศได้ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว เปิดช่องทางให้ชาวต่างชาติเข้าถึงรูปแบบและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายของไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง พร้อมคำบรรยาย หรือแม้แต่สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านเมตาเวิร์ส ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป ทั้งนี้ การได้รับการสนับสนุนจาก กทปส. นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถ ยังช่วยต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพรวมถึงส่งเสริมการจ้างงานในอนาคตได้"