ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้เฮ เมื่อ “หมูเถื่อน” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อยกระดับให้เป็นวาระเร่งด่วน หวังช่วยเกษตรกรกวาดล้างขบวนการหมูเถื่อน ที่เป็นตัวการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ราคาปั่นป่วน ฉุดราคาหมูไทยตกต่ำ เรื่องนี้เป็นปัญหาสะสมมานาน 7-8 เดือน เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องจำใจขายหมูทั้งน้ำตา ยอมขาดทุน เพราะขายหมูสู้ราคาหมูเถื่อนที่ต้นทุนหน้าฟาร์มต่ำประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ของไทยต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งภาระการขาดทุน ยังส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กจำนวนไม่น้อยต้องเลิกอาชีพ ไปทำอย่างอื่นที่สร้างรายได้พอเลี้ยงครอบครัว หรือบางรายต้องจำใจขายลูกหมู แม่พันธุ์หมู ออกไป ให้มีรายได้มาบริหารจัดการฟาร์ม แต่วันนี้ ปัญหาดังกล่าวกำลังจะหมดไปหลังรัฐบาลใหม่เข้ามากุมบังเหียน

ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนเป็นอันดับแรก โดยหมูเถื่อนเป็นหนึ่งในวาระที่ต้องทำ และได้เรียกอธิบดีกรมศุลกากรมาชี้แจงเป็นการเร่งด่วนแล้ว พร้อมถ่ายทอดคำสั่งไปยังรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลทุกคน ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง กระโดดรับลูกทันควันประกาศกร้าว ว่า การปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมูและเนื้อวัว ถูกขึ้น “บัญชีดำ” เป็น 1 ใน 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้อง “เคลียร์” เหมือนเป็น “เทพทันใจ” ของผู้เลี้ยงหมูไทย ที่พอได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้ว

ไม่เพียงแต่รัฐบาลที่ยกระดับการแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” เป็นวาระเร่งด่วน ยังถูกฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกล อภิปรายท้าทายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา โดยกิตติภณ ปานพรหมมาศ สส.นครปฐม เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ที่ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศตกต่ำ เป็นปัญหาที่มีมานับปี เป็นเรื่องรัฐมนตรีคนใหม่ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ต้องแก้ไขเร่งด่วน เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมากต้องแบกรับต้นทุนที่ 90 - 96 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลับต้องขายหน้าฟาร์มในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ 60 - 70 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการบีบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมากต้องออกจากธุรกิจไป แม้ว่าผู้เลี้ยงหมูกำลังฟื้นตัวจากโรค ASF ที่ทางการไทยประกาศพบโรคเมื่อ มกราคม 2565 แต่กลับต้องมาเจอวิกฤตราคาจากหมูเถื่อนซ้ำเติมอีก

เห็นแบบนี้แล้ว ผู้เลี้ยงยิ่งสบายใจได้ ว่า รัฐบาลชุดนี้จะเร่งแก้ปัญหาหมูเถื่อนให้ราบคาบ เพื่อสร้างฐานรากทางการเมืองที่มั่นคงให้ประจักษ์ในสายตาเกษตรกร ที่สำคัญยังมี “สายตรวจ” อย่างพรรคก้าวไกล ส่องกล้องติดตามผลงานตลอดแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ ร.อ. ธรรมนัส คงยอมหักไม่ยอมเสียหน้าเด็ดขาด ต้องขับเคลื่อนกรมปศุสัตว์ ให้เดินหน้าเข้าเกียร์ “เทอร์โบ” ตรวจสอบห้องเย็นและผู้ค้า เพื่อกวาดล้างหมูผิดกฎหมายลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ที่ไม่ได้กระทบแค่คนเลี้ยง แต่เสี่ยงสุขภาพคนกินด้วย อย่างไรก็ตาม ควรมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบท่าเรือแหลมฉบังอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะยังมีการชี้เป้าว่าหมูเถื่อนอีก 100 ตู้ยังตกค้างที่หน้าท่าฯ

ด้านกรมปศุสัตว์ ยังมีแผนทำลายซากสุกรแช่แข็งของกลาง ที่จับกุมได้ล็อตใหญ่ที่สุดที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อกรกฎาคม ที่ผ่านมา จำนวน 161 ตู้ น้ำหนัก 4.5 พันตัน โดยจะทำลายทั้งหมดในครั้งเดียวระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน นี้ ที่จังหวัดสระแก้ว รวมทั้งยังสั่งการเร่งรัดการปฏิบัติงานของ WARROOM ในทุกเขตและทุกจังหวัด ให้ดำเนินการทุกวันไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เพื่อปราบหมูเถื่อนให้สิ้นซากตามเป้าหมายที่รัฐมนตรีวางไว้ โดยจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับขบวนการผิดกฎหมาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ โดยเนื้อสุกรที่จับได้จะถูกทำลายทั้งหมด และจะดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญามีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา หมูเถื่อน ส่วนใหญ่มีการนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และเป็นการสำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์ และอาหารทะเลแช่แข็ง เพื่อลักลอบออกไปจำหน่ายในตลาด โดยมีประเทศต้นทางจากบราซิล อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก เฉลี่ยประมาณ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม และมีการลักลอบจำนวนมากในปี 2565 เนื่องจากไทยประกาศพบโรคระบาด ASF ทำให้ผลผลิตหมูขุนและแม่พันธุ์หายไปจากวงจรผลิตมากกว่า 50% 
 
ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงสามารถนำหมูเข้าเลี้ยงได้ตามปกติ ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง แต่ต้องเจอปัญหาราคาตกต่ำจากหมูเถื่อน และกำลังซื้อลดลงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2565 ทำให้ผู้เลี้ยงหมูไทยประสบปัญหาขาดทุนสะสม  จึงเชื่อว่าการยกระดับการปราบปรามหมูเถื่อนเป็นวาระเร่งด่วนครั้งนี้ จะช่วยให้ผลผลิตเนื้อมีเพียงพอต่อความต้องการและราคาเหมาะสมต่อไปได้