กรมชลฯ สั่งพร้อมรับมือฝนตกหนักพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ตามข้อสั่งการ "รมว.เกษตรและสหกรณ์"

วันที่ 15 ก.ย.66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่มีประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก จากการติดตามสภาพอากาศพบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 17-21 กันยายน 2566 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังพบพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน ลำน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จ.นครพนม ลำเซบาย จ.ยโสธร แม่น้ำลำปาว อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อ.เมืองกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นั้น

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง โดยสั่งการให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่เสี่ยงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างเข้มข้น รวมถึงติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และบริเวณจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ

ทั้งนี้ หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ เพื่อสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที