รัฐบาลเล็งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ คาดสรุปพ.ย.นี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จะมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ในหลักการเห็นตรงกันว่าน่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ย.66 จะรู้รายละเอียดทั้งหมด โดยจะประกาศให้เป็นของขวัญปีใหม่
โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท ซึ่งอยู่กับแต่ละพื้นที่ หากมีการปรับขึ้นไปเป็นวันละ 400 บาทตามที่มีข่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะแรงงานที่ไม่มีทักษะต้องใช้เวลาฝึกราว 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่แรงงานที่มีทักษะในปัจจุบันได้รับค่าแรงสูงกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว และในบางสาขาได้ค่าแรงวันละ 800 บาทก็ยังขาดแคลน หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ตนจะไปขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำไๆด้ในช่วงใกล้ปีใหม่ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานแรงงาน กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDPs ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน ให้ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก หากจะให้ปรับขึ้นจากอัตราในปัจจุบันเป็นวันละ 400 บาท หรือปรับขึ้น 13-20% นั้น จะสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้นปัจจุบันมีความต้องการอยู่ที่ 3 แสนคน โดยภาคเอกชนจะเสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางการจัดทำเอ็มโอยู เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปลอดภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
สำหรับข้อเสนอด้านแรงงานที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยผลักดัน ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลักๆคือ 1.เพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง และผลักดันประเด็นผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาทักษะให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อสอดรับเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยภาครัฐควรมีการสนับสนุนงบประมาณ และประสานความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเอกชน ภาคการศึกษา จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน สนองความต้องการตลาดแรงงาน (STEM)
2.ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในการนำระบบ Automation มาปรับใช้ โดยภาครัฐควรมีนโยบายและจัดสรรงบประมาณมาใช้ในระบบบริหารจัดการและการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.จัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ที่ทันสมัย ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน เพื่อบริหารจัดการอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ด้านแรงงาน แก้ไขปัญหาการทำงานไม่ตรงกับทักษะ (Mismatching) และการขาดแคลนแรงงาน โดยมีหน่วยงานเฉพาะกิจมารับผิดชอบ เพื่อวางแผน รวบรวม ประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพื่อใช้ในการพัฒนากำลังคน สร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงาน
4.กระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน (STEM) ให้มีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ 5.แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน และค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวระยะยาว เช่น เจรจากับประเทศต้นทางในการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงฯ หรือ MOU ที่ไทยทำกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย
6.แก้ไขปัญหาประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยภาครัฐควรออกมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย ลดการขาดแคลนแรงงาน ลดปัญหาครอบครัวและสังคม เช่น ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ออกมาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาทักษะผู้สูงอายุทั้งด้าน Upskill และ Reskill รวมทั้งส่งเสริมผู้สูงอายุปรับตัวตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป
7.เพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน สนับสนุน ส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับนายจ้าง และสามารถลดต้นทุนต่อหน่วย ปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น ลดค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของครัวเรือน ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น เพื่อลดภาระให้กับแรงงานและสามารถดำรงชีพได้ 8.ออกนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า การพบปะกับ รมว.แรงงานในวันนี้ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ปัจจุบันอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล โดยได้ทำการวิเคราะห์และพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สิ่งสำคัญที่สุดคือ 1.เปลี่ยนจาก Original Equipment Manufacturer - OEM (ผู้รับจ้างผลิต) เป็น Original Design Manufacturer - ODM (ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท) และ Original Brand Manufacturer - OBM (ผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง) 2.เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบ Automation 3.เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม 4.เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (High-skilled labor) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ
ทั้งนี้อย่างที่เราทราบกัน ประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียนยังไม่สามารถเทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เราต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋กัน เพราะอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน