ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนมีความฝันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่บางคนนั้นกว่าจะมาสำเร็จได้ก็ในบั้นปลายชีวิต

ผมรู้จักศศิมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ตอนนั้นเจ้านายของผมกำลังสร้างบ้าน “ริมปิง” อยู่ที่เชียงใหม่ ท่านจะขึ้นล่องจากกรุงเทพฯไปดูความก้าวหน้าของการก่อสร้างอยู่เป็นระยะ โดยไปพักที่โรงแรมรินคำ ตรงสี่แยกถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ทางที่จะขึ้นไปดอยสุเทพ (ปัจจุบันคือย่านนิมมานเหมินทร์และห้างเมย่า) อาหารมื้อเช้านั้นเราก็ทานในโรงแรม ส่วนมื้อกลางวันและค่ำก็จะทานตามร้านต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในเมืองเชียงใหม่นั้น

มีร้านอาหารร้านหนึ่งที่พวกเราไปทานบ่อยมาก อยู่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ชื่อร้านนิววิไลการ์เด้นท์ ลักษณะเป็นสวนอาหาร มีบริเวณกว้างขวาง และจัดสวนดูร่มรื่นสวยงาม ถูกรสนิยมของเจ้านายของผม ที่มาปลูกบ้านเชียงใหม่ก็ด้วยชอบในอากาศที่เย็นสบาย และสามารถปลูกไม้ดอกต่าง ๆ ของเมืองหนาวได้สวยงาม ครั้งแรกที่เข้าไปทานก็เพื่อชมสวนในร้านนี้เป็นสำคัญ แต่พอได้ชิมรสอาหารหลาย ๆ อย่างในร้านนี้ก็รู้สึกติดใจ เพราะนอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีการบริการที่สุภาพเรียบร้อย แตกต่างจากร้านอาหารส่วนใหญ่ที่พอเห็นคนใหญ่คนโตจากกรุงเทพฯมารับประทานอาหาร ก็มักจะออกท่าเข้ามาประจบประแจงสนิทสนม จนเกิดความรำคาญ ซึ่งเจ้านายของผมมักจะเจอแบบนั้นเป็นประจำ พอมาเจอพนักงานที่สุภาพเรียบร้อยก็เลยชอบ ทำให้เป็นขาประจำของร้านนี้ พอบ้านริมปิงสร้างเสร็จในปี 2524 ก็มีงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ ท่านก็ให้ร้านนิววิไลการ์เด้นท์นี้ไปจัดอาหารบุฟเฟต์ ร่วมเลี้ยงแขกเหรื่อในงานนั้นด้วย

ผมมีหน้าที่ประสานงานกับเจ้าของร้าน ทั้งทางโทรศัพท์และเดินทางไปที่ร้าน ซึ่งก็เป็นความสมัครใจของผมเอง เพราะส่วนตัวก็รู้สึก “ต้องตาต้องใจ” พนักงานเสิร์ฟคนหนึ่ง ที่รู้จักกันในร้านนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินเข้ามาเมื่อปีก่อนนั้นแล้ว ตามประสาชายหนุ่มในวัยยี่สิบต้น ๆ เพิ่งจบมหาวิทยาลัย และได้ออกมาเจอโลกอันกว้างใหญ่ในดินแดนที่สวยงามของล้านนาไทย รวมถึง “เอื้องเหนือ” ที่สวยใสละลานตานั้นด้วย

“ศศิมา” ในชื่อเล่นที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “ปอน” จากชื่อจริงที่พ่อแม่ตั้งให้ว่า “คำปอน” (ทางเหนือจะใช้ ป ปลา แทน พ พาน คำปอนนี้ก็คือคำพร หรือคำให้พร - อวยพร นั่นเอง) แต่เธอชอบให้คนที่สนิทสนมเรียกว่า “ยุ้ย” มากกว่า ตอนที่ผมได้รู้จักเธอสัก 2-3 ครั้ง ก็เริ่มตีสนิท ถามเธอว่าทำไมชื่อยุ้ยและไม่ชอบชื่อปอน เธอหัวเราะแล้วยิ้มหวาน ก่อนจะตอบว่าเธอชอบแก้มยุ้ย ๆ ของตัวเอง จึงอยากให้คนสนใจในลักษณะเด่นนี้ ส่วนปอนก็ฟังดูเหมือนปอน ๆ หรือเปียกปอน และฟังดูบ้านนอกมากไป เธอจึงอยากให้เรียกว่ายุ้ยมากกว่า

ต่อไปผมขอใช้ชื่อเรียกว่า “ยุ้ย” แทน “ศศิมา” เพื่อความสะดวกปาก และใน “นัยยะ” ที่ผมรำลึกถึงเธอเป็นพิเศษ ที่แม้จะมีช่วงที่สนิทสนมกันเป็นเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ปี แต่มิตรไมตรีที่สืบทอดมาก็ไม่จืดจาง แม้จะเวลาจะผ่านมาถึง 40 กว่าปีนั้น

ยุ้ยเป็นคนป่าซาง จังหวัดลำพูน บ้านอยู่ใกล้ทางขึ้นวัดพระพุทธบาทตากผ้า ทางบ้านมีฐานะปานกลาง พ่อเป็นสล่าหรือช่างไม้ฝีมือดี แม่เป็นแม่บ้านและแม่ค้าขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเปิดหน้าบ้านทำเป็นเพิงขายสินค้างานฝีมือของชาวบ้านหลายชนิด ที่เป็นหลักก็คือเสื้อผ้าพื้นเมือง ไม้แกะสลัก และเครื่องเขินทำจากไม้ไผ่ ซึ่งมีทั้งสินค้าที่ทำกันในหมู่บ้าน และที่รับจากตลาดที่อื่นมา

เธอมีพี่น้อง 7 คน นับว่าเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเธอเป็นลูกสาวคนโต แต่เป็นลูกคนที่สองในบ้าน เพราะมีพี่ชายอีกคนหนึ่งที่เกิดก่อน รองจากเธอลงมาก็เป็นน้องสาวและน้องชายสลับกันจนถึงคนสุดท้อง เธอเรียนจบแค่มัธยมปีที่ 3 (ในตอนที่มาทำงานร้านนิววิไลการ์เด้นท์ แต่ภายหลังเธอก็พยายามหาเวลาไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในเชียงใหม่ จนจบปริญญาตรี) จำได้ว่าช่วยแม่ขายของมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ที่มีนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญมาทำบุญที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า เธอต้องแต่งชุดนักเรียนมาหอบไม้แกะสลักและตุ๊กตาชาวเหนือ ไปชูขึ้นตามบันไดรถนักท่องเที่ยว แล้วส่งเสียงใส ๆ ขายสินค้าเหล่านั้น ทุกวันก็จะได้เงินทิปหรือมีผู้ใจบุญแจกเงินให้เพิ่มเติม บางวันก็ได้หลายสิบบาท จนเธอมีเงินเก็บเดือนหนึ่ง ๆ นับร้อยบาท ซึ่งเธอเคยคิดไว้ในตอนนั้นว่า จะเอาไปเป็นค่าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหา “งานดี ๆ” ทำ

แต่ฝันของเธอก็สลายทันทีที่พี่ชายคนโตเรียนจบชั้น ม.ศ. 5 แต่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แต่พ่อกับแม่ต้องการให้พี่ชายเรียนมหาวิทยาลัย จึงต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีค่าเรียนค่อนข้างแพง ตอนนั้นเธอยังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 2 มีเงินเก็บในธนาคารออมสินหลายพันบาท ซึ่งพ่อแม่ก็รู้ จึงขอเงินจำนวนนั้นมา “ลงทุน” ส่งพี่ชายเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วบอกว่าเมื่อถึงเวลาที่เธอจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย พ่อแม่ก็จะหาเงินมาคืนให้ แต่พอเธอเรียนจบ ม.ศ. 3 พ่อแม่ก็ผิดสัญญา บอกว่าต้องหาเงินให้พี่ชายเรียนก่อน รวมถึงน้อง ๆ ที่กำลังโตไล่ ๆ กันมา ก็ต้องใช้จ่ายเพื่อการเรียนค่อนข้างมากเช่นกัน ขอให้เธออดทนไปก่อน ช่วยพ่อแม่ขายของและเก็บเงินนั้นใหม่ แต่ทุกบาทที่เธอได้มาก็ไม่ได้เก็บ เพราะถูกเอาไปใช้จ่ายให้กับพี่และน้องทั้งหกนั้นเสียหมด

เธอเสียใจและรู้สึกน้อยใจจนถึงขั้น “โกรธเกลียด” พ่อและแม่เป็นอย่างมาก รวมถึงพี่และน้องที่ร่วมกัน “ผลาญ” เงินของเธอนั้นด้วย บ่อยครั้งที่เห็นนักศึกษามาเที่ยวที่วัด เธอแอบร้องไห้อยู่หลังรถบัสนั้นบ่อย ๆ สินค้าของที่ระลึกก็ขายค่อนข้างยาก หาว่าก่อความรำคาญรบกวนนักท่องเที่ยว แม้แต่เด็ก ๆ ที่ใส่ชุดชาวเขาหรือชุดนักเรียนมาขายของ ก็มีความยากลำบากในการขายเช่นเดียวกัน ถึงขั้นที่มีการ “ไล่จับ” เด็ก ๆ เหล่านั้น โดยมีการบอกว่าเป็นการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ เพราะมีการไปล่อลวงเด็กให้มาขายสินค้าหรือขู่เข็ญเอาเงินจากนักท่องเที่ยว ในรูปของขอทานจนถึงทำป่วยเป็นเด็กพิการ

ในปีที่ยุ้ยอายุได้ 20 ปี บรรลุนิติภาวะแล้ว เธอก็ไปเปลี่ยนชื่อที่อำเภอจาก “คำปอน” เป็น “ศศิมา” และบอกพ่อแม่ว่าเธอจะไปทำงานกับเพื่อนที่เชียงใหม่ พอดีกับพี่ชายก็จบรับปริญญาและได้งานทำในบริษัทเอกชน และน้อง ๆ คนรอง ๆ ไปก็มาช่วยขายของได้ทุกคน ทำให้พ่อแม่ไม่มีเหตุผลที่จะรั้งตัวเธอให้หาเงินมาเลี้ยงดูคนอื่น ๆ ในบ้านนั้นอีกต่อไป รวมถึงที่เธอบอกว่าจะส่งเงินให้กับพ่อแม่ทุกเดือน ทำให้พ่อแม่ตกลง อีกทั้งเห็นว่าเชียงใหม่กับลำพูนนั้นก็ไม่ห่างไกลกัน มีอะไรเดือดร้อนก็วิ่งรถไปหากันได้ในเวลาไม่นาน

วันแรกที่ผมเจอยุ้ย เธอเป็นคนเอาเมนูมาให้ที่โต๊ะ แล้วถอยไปยืนยิ้ม ๆ อยู่ใกล้ ๆ เจ้านายผมอ่านเมนูอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะถามว่าในเมนูนี้มีอาหารพื้นเมืองด้วย มีอะไรแนะนำเป็นพิเศษไหม ยุ้ยเดินเข้ามาแล้วพูดช้า ๆ เสียงดังพอได้ยินว่า “ลองออร์เดิฟวร์เมืองก่อเจ๊า มีสะป๊ะ ลำสู่อย่างค่ะเจ๊า” (ลองออร์เดิฟวร์เมืองเหนือไหมคะ มีทุกอย่าง อร่อยทุกอย่างค่ะ”

ผมจำคำพูดในส่วนต่อมาไม่ได้ แต่รู้ว่าเจ้านายผมสั่งออร์เดิฟวร์นั้นมาด้วย พร้อมกับกับข้าวอีก ๔ - ๕ อย่าง ซึ่งก็รับประทานกันหมดอย่างเอร็ดอร่อย ทุกคนติดใจในรสอาหาร แต่ผมนั้นยังติดใจเด็กเสิร์ฟอีกด้วย

ไม่ใช่เพราะว่าเธอนั้นสวยงามน่ารักทั้งรูปร่างหน้าตาและกิริยามารยาท แต่เพราะเธอมี “สิ่งที่น่าค้นหา” อยู่ในตัวมากมาย