ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

"ความงามอันบริสุทธิ์ของศิลปะ..ขึ้นอยู่กับดวงใจอันหยั่งรู้..และการเคลื่อนไหวอันมิหยุดยั้งของจิตวิญญาณแห่งการสรรค์สร้างอันลุกโชน..ประกายไฟอันเย็นเยียบ..ล้ำลึก ของรัศมี แห่งความคิด จิตใจและอารมณ์..คือทาบเงาของการไหลหลั่งในสายทางที่นบน้อม...และ..ปลูกสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความฝัน ที่ต่างมุ่งเดินทางเข้าสู่ สัจจะแห่งปัญญาญาณอันเป็นนิรันดร์..

ศิลปะจึ่งเปรียบได้ดั่งจักรวาลของความปรารถนา..ที่ก้าวย่างไปข้างหน้าด้วยพลังแห่งตัวตนอันสูงส่งและไร้จริต..เป็นมิ่งมิตรของสรรพสิ่งที่อิงอยู่กับต้นรากของความใฝ่ฝัน..และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความลี้ลับมหัศจรรย์อันสงบงาม..เหนืออื่นใด..."

ปฐมบท...แห่งนัยของความเป็นศิลปะเบื้องต้น..คือผลพวงของการรับรู้และเรียนรู้...ทั้งสำนึกคิด และ ปฏิบัติการแห่งชีวิต ที่ได้รับจาก..มหาวิทยาลัยศิลปากร..ด้วยการขยายตัวตนแห่งจิตวิญญาณ  ผ่าน..คำสอนสั่ง..และริ้วขบวนแห่งศาสตร์และศิลป์..ที่ท่าน "อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี" ผู้ก่อตั้งและสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร..ได้จรรโลงและผดุงไว้อย่างเป็นอเนกอนันต์...เมื่อ 80 ปีที่แล้ว..กระทั่งมาถึงวันนี้..ทุกๆมิติแห่งการสอนสั่งได้เติบกล้าขึ้นจากกล้าพันธุ์ทางศิลปะอันสงบสว่าง มาสู่การเป็นเสาหลักแห่งความรื่นรมย์และงดงามอันเอ่อท้นไปด้วย..โลกทัศน์และชีวทัศน์..ที่เป็นอัศจรรย์ยิ่งล้ำ..

"พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว" ..รวมเรื่องสั้นและ..ข้อเขียนแห่งชีวิต..ของเหล่านักเขียน "ชาวศิลปากร" เนื่องในวาระ 50 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัย..เมื่อ 30 ปีที่แล้ว..ด้วยการรังสรรค์ขึ้นโดย...ศิษย์เก่าพี่น้องชาวศิลปากร ณ เวลานั้น..เพื่อจะแสดงคุณค่า..ในการขยายพืชพันธุ์ทาง "ศิลปะแห่งศิลปากร"...สู่การเป็นศิลปะร่วมในวิถีแห่งวรรณกรรม..ประพันธกรรมที่สื่อแสดงถึงถ้อยคำแห่งความหมายของชีวิต ที่ลึกซึ้งและตื่นตระการ..

การสื่อสารในรูปรอยของศิลปะแขนงนี้..มีนัยเฉพาะทางความคิด...มีการครอบคลุมความหมายในการสร้างสรรค์ที่วิจิตรบรรจง..ผ่านวาทกรรมคำสอนที่ตอกย้ำให้เราได้ครุ่นคิดเพื่อการปฏิบัติของท่าน "อาจารย์ศิลป์".. "นายไม่อ่านหนังสือ...นายจะรู้อะไร"

การใฝ่รู้ในการอ่านหนังสือของ "ชาวเรา" ณ เวลานั้น..ไม่ว่าจะศึกษาแขนงใด..หรือเรียนอยู่คณะใดของ "ชาวเรา"

นำมาซึ่งความรื่นรมย์และเข้าใจในอำนาจของวรรณกรรมที่สร้างภูมิอันสำคัญ ต่อการบรรยายและพรรณนาถึงชีวิตต่อชีวิต..ด้วยความ"งดงามและเข้าใจ"..แท้จริง..

 "ความดีของนักเขียนเรื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ข้าพเจ้ามักคุ้น ก็ตรงที่พวกนี้มักมีแววสุนทรียะประกอบอยู่ก่อนแล้ว อาจจะได้มาจากบรรยากาศของมหาวิทยาลัย โดยไม่รู้ตัวก็ได้ และที่ดียิ่งไปกว่านั้น ก็ตรงที่ พวกนี้อ่อนภาษาอังกฤษ..ได้อิทธิพลจากนักเขียนฝรั่งน้อย มีความเป็นไทยมาก"

ปฐมบทแห่งการวิเคราะห์นี้มาจากวิถีแห่งสัจจะและทัศนคติอันตรงไปตรงมาของท่านอาจารย์ "ส.ศิวรักษ์" ในบทวิจารณ์เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ของสำนักหน้าพระลาน...".

"การสร้างนฤมิตกรรมนั้น สร้างขึ้นไม่ได้ด้วยหลักสูตร โดยอาคาร โดยการบริหารหรือการเงิน สิ่งเหล่านี้อาจเอื้อได้บ้าง..แต่การสร้างสรรค์นฤมิตรจะสำเร็จขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศไปในทางความเป็นเลิศ ในทางมุ่งความสวยงาม ยิ่งกว่าความกึ่งดิบกึ่งดี หรือ อาการอันสุกเอาเผากิน..

ความสุขจะเกิดขึ้นได้ ก็ในเมื่อเกิดฉันทะในการสร้างสรรค์ แม้เราจะไม่มีพรสวรรค์อันใดนัก หากตระหนักในสิ่งที่จะสร้าง แล้วบรรจงรังสฤษฎ์ เท่าที่เรามีศักยภาพ หากเราซื่อสัตย์กับตัวเอง และงานของเรา..สิ่งนั้นจะเป็นพยานในทางสร้างสรรค์ และ จักเป็นนฤมิตกรรมอันประเสริฐ เท่าที่เราจะผลิตออกมาได้..ไม่จำเป็นต้องวิเศษเสมอหรือเหนือคนอื่น แต่มันจะเป็นพยานในทางสร้างสรรค์ อันควรแก่การภาคภูมิ"

ข้อคิดเพื่อการชี้เเนะข้างต้นคือ..ภาพสะท้อนแห่งภาพสะท้อน ของคุณประโยชน์แห่งการสร้างสรรค์ศิลปะและงานเขียนในเชิงพินิจพิเคราะห์ ที่สมควรจะเป็น ในเวลานับเนื่องต่อๆมา..

หนังสือนี้..เปรียบได้ดั่งผลงานทางศิลปะ ที่สืบสานกันทางสายสัมพันธ์ของความคิดและจิตวิญญาณแห่งความรับผิดชอบต่อโลกและชีวิตทั้งหมดร่วมกัน..สาระมุมมองของหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นมุมมองของคนสร้างศิลปะ ในรูปแบบวรรณศิลป์ประเภทเรื่องสั้น..ซึ่งถือเป็นประเภทแห่งวรรณศิลป์ที่สามารถสะท้อนเงื่อนไขของมิติเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงประเด็น กระชับ และ ด้วยเวลาที่รวดเร็ว..มุมมองและทรรศนะความคิดทั้งหมดอาจมีหลายแง่หลายมุมที่แตกต่าง แต่โดยบทสรุปของความเป็นที่สุด..มันคือภาวะสะท้อน ความงดงามแห่งจิตใจที่ฉายแสงให้แก่โลกและชีวิตด้วยความมุ่งหวังตั้งใจที่บริสุทธิ์..

นักเขียนชาวศิลปากรหลายคน อาจมีผลงานน้อยชิ้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะวัดความชัดเจนแห่งพลังของความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนวิถีแห่งความเป็นไปของโลกและชีวิตไม่ได้.ดั่งคำกล่าวของ พระยาอนุมานราชธน(เสฐียรโกเศศ) ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากรคนแรกที่ว่า...

"การเขียนหนังสือให้มากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่สารประโยชน์ของเรื่อง..กล่าวคือ บางคนแม้จะเขียนได้มากในเวลาอันสั้น แต่เขียนไปโดย ที่หาสารประโยชน์ไม่ได้ หรือมีประโยชน์อยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อยที่สุด เพราะแข่งกับเวลา และจุดปรารถนาก็ไปตั้งอยู่ที่จะได้ค่าเรื่องมากไป อย่างนี้เทียบกับโสเภณี.."

"พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว" ..มิใช่หนังสือรวมเล่มทางการค้า มิใช่หนังสือรวมเล่มที่ตื้นเขินของหมู่พวก แต่เป็นหนังสือที่รวมพลัง แห่งความคิดและจิตวิญญาณของ "คนศิลปะ" แห่งศิลปากรที่มองโลกด้วยจิตสำนึกของการเรียนรู้ และ เจตนาของความรับผิดชอบ..นอกเหนือไปจากผลงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่องเฉพาะจินตนาการส่วนตน..

หนังสือนี้..ประกอบด้วยเรื่องสั้นเกียรติยศ ของ ท่าน "อาจารย์ศิลป์" และฯพณฯ ชวน หลีกภัย..อดีตนายกรัฐมนตรี../อันเป็นคุณค่าแห่งสาระที่น่าติดตาม..พร้อมบทกล่าวนำที่เป็นทรรศนะแห่งชีวิตของผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับชาวศิลปากร ตลอดจนอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยศิลปากร..นับแต่..ส.ศิวรักษ์ กุสุมา รักษ์มณี ว.วินิจฉัยกุล และ กอบกุล อิงคุทานนท์..เป็นชีวิตระหว่างบรรทัด ที่มีแง่มุมแห่งความหมายของจิตใจอันงดงาม..

"การสร้างสรรค์งานศิลปะหาใช่การรอคอยวันเวลา หาใช่การก้าวนำไปสู่ความร่ำรวยทางการเงิน"

เมื่อเราเกิดมา..เป็นชีวิตและอยู่กับโลก..การดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนเป็นเหมือนบทบาทแสดงในโรงละครแห่งโลกและชีวิตโรงหนึ่ง..และ บทบาทในโรงละครของ "คนศิลปะแห่งศิลปากร" ก็ดูเหมือนจะเป็นมา..เป็นอยู่และเป็นไป..ของทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดที่ว่า..

"ทุกคนต้องรู้จักใช้ความคิด..ใช้อารมณ์และใช้จิตใจเพื่อพิจารณาบทบาททั้งหมดแห่งตน"

"กุสุมา รักษมณี" ได้ส่องประกายถึงหัวใจแห่งสำนึกคิดของนักเขียนชาวศิลปากรหลายๆท่านเอาไว้อย่างน่าสนใจในข้อเขียน "ที่ใต้ต้นจัน..มีวรรณศาลา" ..ตัวอย่างดั่งนี้....

ลองไปสัมผัสอารมณ์และความคิดของผู้หญิงที่รู้จุดอ่อนของตัวเองแต่ทำอะไรไม่ได้..อย่าง "สุวรรณี สุคนธา" ที่รำพึงไว้ใน คืนหนาวที่เหลือแต่ดาวเป็นเพื่อน

"ความว้าเหว่จู่โจมเข้ามาจับอารมณ์ของเรา น้ำตาอุ่นท้นขึ้นมาริมขอบตา เมื่อความเหงาเข้ามาเป็นเพื่อนกับเรา มันเป็นเพื่อนสนิทกับเราเสียด้วย  มักจะปราดเข้ามาจับมือเขย่าอยู่เสมอเมื่อเราเผลอตัว.."

คำรำพึงของ "อารยา ราษฎร์จำเริญสุข"ใน"วันใบไม้ร่วงของคนไกลบ้าน" ...ก็ทำให้รู้จักผู้หญิงในมุมเดียวกัน..

"เออหนอ..รอยหนามที่แขนเพิ่งจางหาย ผิวคล้ำจากแดดแรงที่เธอพร่ำบ่นทุกครั้งเมื่อเอนนอนเคียงกันยังไม่จางไป..เจ้าความเหงากลับมาเยี่ยมเยือนอีกหน คราวนี้ย้ำให้หนักไปยิ่งกว่า นึกเกลียดตัวเองจับใจที่ช่างอ่อนไหวถึงปานนี้"

"ฉัน" ในเรื่องสั้น "นิพพานศตวรรษที่ยี่สิบ" ของ พิษณุ ศุภ.มีคำถามที่กว้างออกไปถึงสังคมเมืองอันสับสนวุ่นวาย..

"ฉันก็เหมือนกับคนบ้าคนอื่นๆ ที่พยายามกระเสือกกระสนเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง ทั้งๆที่หาคำตอบไม่่ได้เหมือนกันว่า..ฉันดั้นด้นมาแสวงหาอะไร...จะให้ฉันทนเป็นเบื้ออยู่คนเดียวได้อย่างไร..การจะเข้ามาศึกษาหาความรู้นั้น เป็นเพียงอุดมคติที่ริบหรี่...ประการแรกไม่มีความรู้ใดๆที่จะให้เราศึกษา..และ ประการหลัง เราลืมว่า..พวกเราเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้กันเสียแล้ว.."

นักศึกษาสาวชื่อ "บานเย็น" ในเรื่องสั้น "ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานเย็น" ของ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ก็ตั้งคำถามแปลกใหม่กับคนในสังคมมหาวิทยาลัยว่า..

"อาจจะเป็นไปได้ว่า..การแต่งงานในขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่นั้น..กระทบการเรียน นั่นเป็นเพราะเขาไม่มีความรับผิดชอบ คนที่ไม่มีความรับผิดชอบย่อมจะไม่รับผิดชอบอยู่ดี..ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน ..ในกรณีหนูนี้..ถ้าหนูสอบตกซ้ำชั้น ระเบียบของมหาวิทยาลัยก็มีอยู่แล้วว่า..เมื่อครบสองปีก็ไล่ออกหมดสภาพการเป็นนักศึกษา และคนที่ถูกไล่ออกไปกี่คนแล้ว ก็ล้วนแต่ไม่ได้แต่งงานทั้งนั้น ไม่ใช่หรือคะ.."

คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบ..ว่ากันว่า..ที่ไหนมี "คน" ที่นั่นก็มีปัญหา..นักเขียนไม่ใช่ผู้แก้ปัญหา แต่เป็นคนที่ "เรียก" ให้เพื่อนๆ หันมาดูและช่วยกันคิด.. "ศิลปะจึงมิใช่งานที่สร้างขึ้นเพื่อความอิ่มอารมณ์เท่านั้น แต่สร้างจากความสำนึกทางสังคม..เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ความเข้าใจที่ดีต่อกัน.."

มาถึงวันนี้...30 ปีล่วงผ่านมา..มหาวิทยาลัยศิลปากรมีอายุได้ 80 ปี..คนกลางคนเมื่อวันนั้นลุสู่วัยชรา ในวันนี้..และคนสูงอายุเมื่อวันนั้นก็ได้ละจากชีวิตไปหลายๆคน..เช่นเดียวกับภาวะแห่งกาลเวลาที่ว่า "อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี" ก็ได้มีสายทางชีวิตแนบเนากับความเป็นไทยได้ครบศตวรรษ..นับเนื่องจากปี พ.ศ.2466 ถึงปัจจุบัน.. ผมระลึกถึง "โรงละครโรงเล็กสีเขียว" ของ "พิเศษ สังข์สุวรรณ" ที่เป็นเหมือนบทย้ำเตือนที่ว่า..

"เมื่อโรงละครโรงเล็กสีเขียวเลิกแสดง../นักแสดงก็มาเป็นคนดู/..เพราะแสดงละครเรื่อง..คนดู/เป็นคนดูที่มีจิตใจ ใช้ความคิดและอารมณ์_/คนดูใส่หมวกสีน้ำเงิน เสื้อผ้าสีแดง สายสร้อยสีขาว/นักแสดงใส่ชุดสีแดง สีเทา สีม่วง สีแสด สีฟ้า สีน้ำเงิน/โรงละครนั้นสีเขียว.." หรืออย่างที่ "นิพนธ์ จิตรกรรม" ได้ร่ำระบายและวิพากษ์โลกสภาวะเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาในเรื่องสั้น.. "แว่นตาไม่มีกระจก"

"ครั้งคราใด ที่ข้าพเจ้า หยิบแว่นตาที่มีกระจกเพียงข้างเดียวนั้นสวมใส่/...ข้าพเจ้ามองเห็นแต่โลกที่วุ่นวายสับสน.."

ทั้งหมดนี้..คือเรื่องราวในบทวิเคราะห์แห่งศิลปะการสร้างสรรค์วรรณกรรม ที่แตกแขนงออกมาจากรากรากเหง้าและหน่อเนื้อทางศิลปะที่อาจารย์ได้วางรากฐานไว้ในองคาพยพของ ศิลปะร่วมหลายแขนงที่บุคคลที่เล่าเรียนศิลปะจำเป็นจักต้องเรียนรู้ "จักรวาลนฤมิต" ที่เต็มไปด้วยความเป็นอัศจรรย์นี้..

ในทุกๆห้วงเวลา กระทั่งก่อเกิดผัสสะที่ติดตรึง ชีวิต จิตใจ และ อารมณ์..ชั่วกาล..ทั้งในนามแห่งความเป็นศิปะและศิลปิน..ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง..แม้เมื่อใด..

"ศิลปินคือบุคคลที่มีความใฝ่ฝัน ความปรารถนาอันแรงกล้าครอบครองอยู่ นั่นคือความปรารถนาที่จะชื่นชม และมีชีวิตอยู่ในความลี้ลับมหัศจรรย์ของจักรวาล...ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง..." (ศิลป์ พีระศรี)