"เศรษฐา" ยันไร้ขัดแย้ง มอบ"ภูมิธรรม"คุมเกษตรฯ แทน "พัชรวาท" ลั่น 11 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นของประชาชน  ยันดึงแพทองธารนั่งรองปธ.ยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อชีวิตประชาชนดีขึ้น สนธิรัตน์เผยพัชรวาท พูดน้อย ไม่ใช่อุปสรรคทำงาน ภูมิธรรมย้ำแก้รัฐธรรมนูญทุกฝ่ายต้องยอมรับได้  ขณะที่จุรินทร์ เผยลดค่าไฟฟ้า-น้ำมันเป็นเรื่องดี 
       
   
  ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์  จะเป็นการดึงเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานนี้ใช่หรือไม่ ว่า จะเป็นการดึงคนทุกภาคส่วน ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่น.ส.แพทองธาร แต่จะเป็นทุกคนที่มีความรู้ความสามารถ จะมีอีกหลายคนหลายภาคส่วน และมีอีกหลายคนที่รัฐบาลจะเชิญเข้ามาเพื่อให้ครบทุกมิติในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ทำความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น
    
 นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกรณีการแบ่งงานของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้านการเกษตรอยู่ในกำกับดูแลของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แทนที่จะอยู่ในกำกับดูแลของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า อย่าไปโฟกัสว่าใครอยู่พรรคไหนอย่างไร ซึ่งตนพูดตั้งแต่วันแรกว่ารัฐบาลชุดนี้แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 11 พรรค แต่เราก็เป็นรัฐบาลของประชาชน
       
"ขออย่าดูว่าเป็นรัฐบาลซีกไหน กลุ่มไหน ผมคิดว่าเป็นการดูแลที่ถูกฝาถูกคน เพราะนายภูมิธรรมก็ดูแลเรื่องการเกษตรและพาณิชย์ควบคู่กันไป เราเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเชื่อว่าเรื่องนี้เราไม่มีความขัดแย้งกัน"  นายเศรษฐา กล่าว
    
 ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power โพสต์ทวิตเตอร์ ระบุว่าขอร่วมเป็นหนึ่งในทีม ที่จะปลดล็อกศักยภาพคนไทย ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ และนโยบายจากรัฐร่วมกับภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันผลักดันไปสู่เวทีโลก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงค่ะ
     
ด้าน นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตลอด 4 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8 ร่าง แต่ที่สุดก็ไม่ผ่าน ในที่สุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตัดสินว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้อำนาจประชาชน ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชนก่อนถึงจะแก้ได้ ทางปฏิบัติจึงต้องถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ ซึ่งถ้าแก้จะแก้ด้วยกระบวนการแบบไหน อย่างไร ดังนั้นถ้าไม่เคลียร์ให้จบก่อน แต่ละกระบวนการค้างไม่คืบหน้า
      
 รัฐบาลปัจจุบันยึดมั่นในพันธสัญญา อะไรที่พูดแล้วรับปากแล้วต้องทำให้ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมอบให้ดูแลเรื่องนี้ก็มีการประสานงานกันบ้างแล้ว และจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ โดยต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 1 และ 2 แต่ปัญหาที่มีอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจในระบบประชาธิปไตย ได้มาอย่างไร และทำให้กระบวนการเอื้ออำนวยต่อการบริหารประเทศ ต่อการรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน 
    
 นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า จะให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายในการช่วยกันคิดให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ หาจุดที่พอดี ค่อยๆแก้ไปที่ละเปลาะ นำไปสู่การที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เราต้องเริ่มจากความเป็นจริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้แก้ได้ยาก ส่วนจะทำวิธีการไหน จะเป็นการประนีประนอมของทุกฝ่ายเพื่อแกะที่ละปม โดยหลังจากนี้จะเร่งตั้งคณะกรรมการที่มีมาจากทุกฝ่ายตามที่นายกฯได้สั่งการ ให้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้ามาและให้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
    
 สำหรับการทำประชามติจะต้องทำกี่ครั้ง ยังมีความเห็นต่าง ซึ่งโดยปกติแล้วการทำประชามติใช้งบครั้งละกว่า 3 พันล้านบาท ปัจจุบันคงอยู่ที่กว่า 5 พันล้าน ถ้าทำถึง 4 ครั้ง ก็ใช้งบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องดูอีกที เพราะเงินจำนวนนี้สามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้
   
  ส่วนรายชื่อคณะกรรมการขอให้อดใจรอ แต่ก็มีการพูดคุยกับ นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เจ้าตัวมีความประสงค์จะเข้ามาช่วย นอกจากนี้ยังมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย และอาจจะเชิญนักกฎหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญในทุกพรรคการเมืองเข้ามาร่วม ซึ่งตนไม่ต้องการคณะกรรมการขนาดใหญ่ แต่อยากได้คณะแบบเล็กๆ ที่สามารถพูดคุยกันได้
    
 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางเข้ากระทรวงเพื่อมอบนโยบายแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เป็นวันแรก โดยก่อนที่พล.ต.ต.พัชรวาทเดินทางมาถึงกระทรวง ได้มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวง และส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเดินทางมารอรับจำนวนมาก รวมไปถึง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมารอรับพล.ต.อ.พัชรวาทด้วย
   
  นายสนธิรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า มาช่วยงานพล.ต.อ.พัชรวาท โดยมาตามตำแหน่งภาระการเมืองในพรรค เข้ามาช่วยแก้ ผลักดัน และขับเคลื่อนงานต่างๆ ภายในกระทรวง โดยมองว่าทส.คือกระทรวงแห่งอนาคต เป็นเมกะเทรนด์ของโลก โลกกำลังทำเรื่อง กรีน เรื่องการรับมือภาวะโลกร้อน รวมไปถึงรับมือกับเอลนิโญ เรื่องเหล่านี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ประเทศไทยต้องทำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ทส.โดยตรง เมื่อถามว่า การที่ตัวรัฐมนตรีเป็นคนพูดน้อย จะเป็นอุปสรรคในการทำงานในกระทรวงหรือไม่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พูดน้อย ก็จะช่วยๆ กันพูด ช่วยกันทำงาน และบอกว่าได้ทำอะไรไปบ้าง
      
 ท่านเป็นตำรวจ พูดน้อย เน้นทำงานเป็นหลัก อย่าเอาเรื่องที่ท่านพูดน้อยมาเป็นประเด็นเลย เน้นทำงานเป็นหลักดีกว่า นายสนธิรัตน์ กล่าว
    
 ทั้งนี้มีรายงานว่า จะมีการแต่งตั้งนายสนธิรัตน์เป็นประธานที่ปรึกษาพล.ต.อ.พัชรวาท
  
   ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการณ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีมติ ครม.13 ก.ย. เรื่องลดค่าไฟฟ้ากับราคาน้ำมันว่าเป็นเรื่องดี และต้องทำ ไม่ทำไม่ได้เพราะทุกพรรคหาเสียงไว้ และเป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้วหลายรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือมติเมื่อวานเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่กี่เดือน หลังจากหมดเงื่อนเวลาแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาน้ำมันยังไม่มีปรากฏ
    
 ส่วนเรื่องวีซ่าฟรี จีนและคาซัคสถาน ตนเคยเป็น รมต.ท่องเที่ยวและกีฬามาก่อนในรัฐบาลชวน 2 รู้ดีว่าเป็นเรื่องควรทำในสถานการณ์นี้เพื่อเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งตนเคยทำทั้งวีซ่าฟรีและฟรีวีซ่า คือไม่ต้องมีวีซ่าสำหรับบางประเทศ หรือมีวีซ่าแต่ไม่ต้องจ่ายค่าวีซ่า รวมทั้งการเปิดโอกาสให้หลายประเทศทำ visa on arrival ได้ คือมาทำที่สนามบินไทยตอนมาถึงได้เลยไม่ต้องทำมาล่วงหน้า ซึ่งมีผลในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้มากในขณะนั้น น
    
 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติครม. ลดค่าไฟฟ้าและลดราคาน้ำมันดีเซล ว่า ถือเป็นมติครม.ที่โดนใจประชาชน เพราะในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เรื่องค่าไฟแพงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ดังนั้นการที่รัฐบาลของนายเศรษฐาตัดสินใจที่ลดค่าไฟฟ้าเหลือมาเป็นหน่วยละ 4.10 บาท รวมทั้งลดน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทนั้นเป็นการช่วยเหลือประชาชนในสภาวการณ์ขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกินความเป็นจริง จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศว่ามาตรการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่สำคัญคือการยกเลิกค่าเอฟที เพื่อจะทำให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เนื่องจากการคิดคำนวณค่าเอฟทีเป็นสมมติฐานทั้งสิ้น และเป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม ตนจึงอยากเสนอให้รัฐบาลยกเลิกค่าเอฟที เพื่อจะได้ค่าไฟที่สะท้อนกับความเป็นจริง และเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
   
  ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดและมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน คือการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่ได้รับจากธรรมชาติ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน หรือการติดโซลาร์เซลล์ หรือแม้กระทั่งขณะนี้ที่มีนายทุนด้านพลังงานได้ลงทุนทางด้านพลังงานลม ในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งตนยังมีข้อสงสัยว่า ได้มีการดำเนินการอย่างไรในการขอใช้พื้นที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานลม จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ทั้งการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่หลายสิบต้น การตั้งระบบความคุมกำลังไฟที่ได้ เป็นต้น รวมทั้งการที่บริษัทพลังงานลมเหล่านี้เสียภาษีบำรุงท้องที่แก่อปท. ยังไม่มีความชัดเจน จึงอยากให้กระทรวงพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่บริษัทพลังงานลมต่างๆ ได้ชี้แจงต่อข้อสงสัยดังกล่าว เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับประชาชน เพื่อให้พลังงานลมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฝ่าวิกฤตปัญหาราคาพลังงานด้วย
      
 ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้ดำเนินการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ตั้งแต่การประชุม ครม.ครั้งแรก แต่ผมเห็นว่าการลดค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ดำเนินการยกเลิกค่าเอฟทีออกไปนั้นเป็นการสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนว่าค่าไฟฟ้าอาจจะไม่ได้ลดจริง เพราะอาจมีสูตรที่จะทำให้ค่าเอฟทีส่งผลให้ค่าไฟฟ้าไม่ได้ลดลงตามที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ ดังนั้น การดำเนินการยกเลิกค่าเอฟที พร้อมกับดำเนินการส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน นายชัยชนะ กล่าว