วันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักอนามัย กทม.ออกประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและคำแนะนำในการทำความสะอาด เนื่องจากโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในช่วงนี้ว่า ในสถานประกอบการหรือสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากและมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ควรมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ด้วยวิธีการเช็ดถู หรือซักล้าง เพื่อการป้องกันการติดเชื้อตามขั้นตอน ดังนี้ 1.ให้ผู้ทำความสะอาดสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา ผ้ากันเปื้อน เป็นต้น 2.ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป โดยเน้นทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสกับผิวหนังบ่อย ๆ และมีโอกาสปนเปื้อนสูง เช่น ลูกบิดประตู ที่นอน โซฟาหรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ด้วยแอลกอฮอลล์ 70% ขึ้นไป
3.ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม โดยราดน้ำยาฟอกขาว (Sodium Hypochlorite) ชนิด 0.05% ความเข้มข้น 500 PPM. (ผสมน้ำยา 1 ส่วนในน้ำ 99 หรือ 1 ฝาต่อน้ำ 1 ลิตร) ทิ้งไว้ 10 - 15 นาที แล้วใช้ผงซักฟอกชนิดเข้มข้นละลายน้ำตีให้เกิดฟอง ราดให้ทั่วบริเวณพื้นที่ ขัดทำความสะอาดแล้วล้างด้วยน้ำเปล่าซ้ำอีกครั้ง เน้นเช็ดถูพื้นผิวสัมผัส เช่น ฝารองชักโครก ที่กดสายชำระ เป็นต้น 4.หากบริเวณใดมีสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อสุจิ อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ เปื้อน ให้ใช้น้ำยาฟอกขาว ความเข้มข้น 5,000 PPM. (ผสมอัตราส่วน 1 ส่วนในน้ำ 9) ราดทิ้งไว้ 10 - 15 นาทีแล้วราดด้วยผงซักฟอกเข้มข้นละลายน้ำตีให้เกิดฟอง ราดให้ทั่วบริเวณพื้นที่ ขัดทำความสะอาดแล้วล้างด้วยน้ำเปล่าซ้ำอีกครั้ง
5.เสื้อผ้า หรือวัสดุที่เป็นผ้า เช่น ผ้าห่ม เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ฯลฯ ที่อาจเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย อสุจิ อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ให้ใช้ผงซักฟอกชนิดเข้มข้นผสมน้ำร้อน 60 องศาเซลเซียส หรือแช่ด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วซักด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้น แล้วตากแดดให้แห้งสนิท 6.อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการทำความสะอาด เช่น ผ้าขี้ริ้ว ไม้ถูพื้น หลังจากใช้แล้วนำมาแช่น้ำยาฟอกขาว ความเข้มข้น 500 PPM. แล้วซักด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้น แล้วล้างน้ำเปล่าซ้ำ และตากแดดให้แห้ง 7.หากมีสระน้ำหรืออ่างน้ำที่มีการขังน้ำไว้ใช้งานหลายวัน ให้ตรวจวัดและบันทึกค่าคลอรีนเป็นประจำทุกวัน โดยคงค่าคลอรีนให้อยู่ระหว่าง 15 - 2 PPM
ด้านกรมควบคุมโรค ระบุแนวทางการคัดกรองโรคฝีดาษลิงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้มารับบริการในสถานบริการสุขภาพประกอบด้วย 1.วัดไข้ และซักประวัติอาการผู้ที่มาเข้ารับบริการ หากพบว่ามาด้วยอาการแผล หรือผื่น ให้ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่การให้บริการเฉพาะระหว่างรอการวินิจฉัย 2.ซักประวัติ ข้อมูลปัจจัยเสี่ยง และตรวจร่างกายหาปัจจัยเสี่ยง3.รายงานข้อมูลผู้ป่วยสงสัย หรือเข้าข่ายโรคฝีดาษลิงไปยัง SAT สำนักงานป้องกันควบคุมโรค/สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคทันที 4.สอบสวนโรคเบื้องต้นตามเกณฑ์สอบสวนโรค พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างในห้องแยกของสถานพยาบาลที่ให้บริการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ส่วนแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เมื่อพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือสงสัยโรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรคระบุว่า 1.ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสถานพยาบาล หรือสถานที่ที่มีคนแออัด และสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเพื่อป้องกันผื่นสัมผัสกับของใช้อื่น ๆ 2.ให้ผู้ป่วยที่เข้านิยามสงสัยหรือเข้าข่าย รอผลตรวจยืนยันที่สถานพยาบาลโดยแยกห้องน้ำ/ห้องนอน จนกว่าจะทราบผลตรวจ 3.กรณีสถานพยาบาลมีข้อจำกัดด้านพื้นที่แยกผู้ป่วย ให้สถานพยาบาลให้คำแนะนำ ในการแยกผู้ป่วยตามความเหมาะสม โดยเป็นไปตามดุลยพินิจของสถานพยาบาลที่ดูแล 4.ติดตามคู่เพศสัมพันธ์เพื่อมาตรวจ และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค 5.ให้ผู้ป่วยเข้านิยามสงสัยหรือเข้าข่าย งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นจนกว่าจะทราบผลตรวจ
6.ให้ผู้ป่วยงดมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นขณะป่วย และเมื่อพ้นระยะกักตัว ให้ผู้ป่วยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทางต่อเนื่องไปอีก 12 สัปดาห์ 7.ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 8.ให้ผู้ป่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ 9.จัดการขยะติดเชื้อที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน แยกทิ้งอย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังพบโรคฝีดาษลิงในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูง มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15 % ในผู้ที่มี CD4 < 200 cell/mm ยกกำลัง 3 แนวทางการป้องกันคือ 1.เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก 2.เลี่ยงการสัมผัสผิวหนังที่มีผื่น/ตุ่ม หนอง ของผู้อื่น 3.เลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้อื่น เช่น น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยลดระดับไวรัสในเลือด และเพิ่มปริมาณ CD4 ให้อยู่ในระดับที่มากกว่า 200 cell/mm ยกกำลัง 3 เพื่อลดความรุนแรงจากโรคฝีดาษลิง (Mpox) และป้องกันการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อฉวยโอกาส รวมถึงหากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สัมผัสผิวหนังที่มีผื่น/ตุ่ม หนอง หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยโรคฝีดาษลิง ควรเข้าบริการตรวจที่สถานพยาบาล โดยแจ้งรายละเอียดอาการและประวัติเสี่ยงแก่เจ้าหน้าที่
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุข้อมูลวันที่ 11 ก.ย.66 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ 343 ราย แบ่งเป็นชาย 332 ราย หญิง11 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาวต่างชาติ 39 ราย ชาวไทย 302 ราย ไม่ระบุ 2 ราย ค่ามัธยฐานอายุ 34 ปีระหว่างอายุ 16-64 ปี อาการที่พบมากที่สุด คือ ผื่นที่ใบหน้า แขนขา อวัยวะเพศ และทั่วร่างกาย รองลงมาคือ คัน เจ็บคอ ปวดหัว อ่อนเพลีย ไอ และตุ่ม/แผลในปาก
ทั้งนี้ ข้อมูลเดือน พ.ค.65 - 11 ก.ย.66 กรุงเทพมหานคร ยืนยันผู้ป่วย 216 ราย ชลบุรี 25 ราย นนทบุรี 18 รายสมุทรปราการ 13 ราย ภูเก็ต 12 ราย ตามลำดับ โดย กทม.มีผู้ป่วยสะสมที่เข้ารับการรักษา 222 ราย นนทบุรี 34 รายชลบุรี 25 ราย ภูเก็ต 13 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ตามลำดับ โดยจำแนกความเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - ก.ย.66 ได้แก่ 1.ประวัติเดินทางต่างประเทศ 4 ราย 2.MSM 290, Hetero 24 and NA 29 3.พบการติดเชื้อในกลุ่ม PLHIV 157 ราย 3.Multi partner หรือ one night stand หรือ คนแปลกหน้า ที่ไม่ทราบประวัติหรือสังเกตพบผื่น 4.ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน ให้ประวัติสัมพันธ์กับสถานบันเทิงเฉพาะกลุ่ม 5.ในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ให้ประวัติการนัดหมายในที่ส่วนบุคคล ผ่าน Application หรือเครือข่าย 6.มากกว่า ร้อยละ 90 ไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้
ล่าสุด ช่วงวันที่ 4 - 11 ก.ย.66 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยตามจังหวัดเริ่มป่วยเพิ่ม 17 ราย แบ่งเป็น กทม. 9 ราย ชลบุรี 2 ราย สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี เชียงใหม่ ระนอง และภูเก็ต จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยเพศชาย 2 ราย (Heterosexual act) โดย 1 รายให้ประวัติ bisexual และ 1 รายประวัติกำกวม