"รศ.หริรักษ์" ชี้แบ่งจ่ายเงินเดือนเป็น 2 งวดเป็นมาตรการตื้นเขิน เป็นประโยชน์สำหรับบางคนที่บริหารเงินไม่เป็น เพิ่มภาระกรมบัญชีกลาง
13 ก.ย.2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า
มาตรการที่ออกมาจากรัฐบาลหลังการประชุม ครม.ครั้งแรกแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการให้สาธารณะเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจได้อย่างฉับไวและเป็นรูปธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่เคยได้ศึกษาและคิดให้ทะลุเบ็ดเสร็จลงไปจนถึงระดับปฏิบัติเลยแม้แต่มาตรการเดียวก่อนการเลือกตั้งและการหาเสียง
มาตรการแบ่งจ่ายเงินเดือนเป็น 2 งวด เป็นมาตรการที่ตื้นเขิน เป็นประโยชน์เพียงสำหรับบางคนที่บริหารเงินไม่เป็นเท่านั้น ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วประเมินได้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตื่นเต้นกับมาตรการนี้ เพราะหากจ่ายเงินเดือนมาให้ก่อนครึ่งเดือน อีกครึ่งหนึ่งไปจ่ายปลายเดือน ซึ่งอาจไม่มีผลเสียต่อข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดีมากพอที่จะคุ้มกับภาระงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นของกรมบัญชีกลาง แม้ท่านอธิบดีกรมบัญชีกลางจะให้ข่าวว่าพร้อม แต่ท่านอธิบดีไม่ได้เป็นคนทำงานระดับปฏิบัติ ลูกน้องของท่านอธิบดีต่างหากที่จะต้องเดือดร้อน ยังไม่ต้องพูดถึงบรรดาเจ้าหนี้ของข้าราชการโดยเฉพาะที่รับชำระหนี้ด้วยการหักเงินเดือนข้าราชการเป็นรายเดือน เช่นเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยราชการ เหล่านี้ก็ต้องปรับวิธีการหักเงินตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ สรุปแล้วมาตรการนี้อาจเป็นมาตราการที่ได้ไม่คุ้มเสีย น่าจะยกเลิกไปเลยจะดีกว่า
มาตรการลดราคาพลังงาน อันประกอบด้วยการลดค่าไฟฟ้าลง 35 สตางค์เหลือหน่วยละ 4 บาท 10 สตางค์ ตรึงราคาแก๊สหุงต้มที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก และคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท มาตรการนี้ล้วนเป็นมาตรการชั่วคราวในระยะสั้น ยังไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างหรือไม่และแก้ไขอย่างไร มาตรการระยะสั้นเช่นนี้ ต้องใช้เงินแผ่นดินไปชดเชยจุนเจือทั้งสิ้น จึงยังไม่สมราคาคุยเมื่อตอนหาเสียง
เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขณะนี้อย่างน้อยยังมีสัญญาว่าอาจทำได้เป็นบางสาย เฉพาะสายที่รัฐดำเนินการเอง ซึ่งก็อาจต้องใช้เงินแผ่นดินไปชดเชยเช่นกัน อย่างไรก็ดีอยากขอย้ำว่า เมื่อหาเสียงทุกคนโดยเฉพาะคุณแพทองธาร พูดชัดถ้อยชัดคำว่า ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้ทันที
ไม่ต้องพูดถึง digital wallet ที่หาเสียงกันปาวๆ แต่เพียงมีวิธีการคร่าวๆเท่านั้น รายละเอียดต่างๆยังไม่ได้คิดให้เบ็ดเสร็จก่อนหาเสียง ที่สำคัญก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะเอาเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านมาจากไหน ได้แต่ประกาศว่าจะไม่กู้เงินเพิ่ม แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเอาเงินมาจากไหน
มาตรการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน มาตรการนี้ชัดเจนว่ายังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อนจึงตั้งกรรมการและให้กรรมการไปประชุมระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีการทำงานแบบเดิมๆที่ราชการชอบใช้กัน นั่นก็คือตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง โดยตั้งหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนมาเป็นกรรมการ เช่น ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำงานโดยใช้คณะกรรมการทำการขับเคลื่อนงาน ในทางการบริหารถือว่าเป็นวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่ำและเสียเวลามาก เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการประชุม หากไม่มีการประชุมก็จะดำเนินการอะไรไม่ได้ กรรมการแต่ละคนเมื่อประชุมแล้วก็จะกลับไปปฏิบัติงานของหน่วยงานของตัวเองเป็นหลัก งานของกรรมการจึงเป็นงานรอง
ความจริงคำว่า soft power เป็นคำที่เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา หมายถึงการให้เกิดการร่วมกันหรือมีค่านิยมเหมือนกันโดยไม่มีการบังคับหรือไม่ใช้กำลัง ซึ่งมักครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวกับ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง นโยบายต่างประเทศ
อยากขออ้างคำพูดของคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ผู้มากความสามารถ น่าเสียดายที่ท่านจากไปก่อนเวลาอันควร คุณแสงชัยพูดไว้ก่อนจะเกิดคำว่า soft power ถึง 30 ปีว่า
"ประเทศใดที่สามารถกำหนดวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆได้ ประเทศนั้นจะได้ประโยชน์จากประเทศอื่นๆนั้นอย่างมหาศาล ดังนั้นสงครามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกรูปแบบหนึ่งที่ประเทศต่างๆจะต่อสู้กันก็คือ สงครามวัฒนธรรม "
การกำหนดวัฒนธรรมประเทศอื่นๆก็คือการใช้ soft power นั่นเอง แต่หลักสำคัญคือต้องทำอย่างแนบเนียน ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ตัว หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "subtle" สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกๆที่ทำเรื่องนี้ ซึ่งสหรัฐมีเครื่องมือสำคัญคือ Hollywood คนทั้งโลกนิยมสวมกางเกงยีนส์ ก็เพราะอิทธิพลจากภาพยนตร์ของ Hollywood เกาหลีทำแบบเดียวกัน และทำได้สำเร็จจนครอบงำประเทศไทยในทางวัฒนธรรมได้อย่างที่เราไม่รู้ตัว และยังขยายอิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆได้อีกด้วย คำถามคือ ประเทศเหล่านี้เขามีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แบบเราหรือไม่ คาดว่าไม่ เพราะเขาทำอย่างแนบเนียน การประกาศว่าจะตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ก็เท่ากับเป็นการเริ่มปฏิบัติการที่ไม่แนบแนียนแล้ว จึงเป็นการทำลายปัจจัยสำคัญของการใช้ soft power ไปเสียตั้งแต่แรก
เอาเถอะ ก็ต้องนับว่ารัฐบาลได้พยายามแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมราคาคุยว่า คิดใหญ่ ทำเป็น เพราะดูเหมือนได้แต่คิดแต่ยังทำไม่เป็น อย่าลืมว่าทุกคน ฝ่ายค้าน สื่อมวลชน นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป กำลังติดตามดูอยู่ และหวังว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างเสียที เช่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ เพราะการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล ไม่สามารถทำได้สำเร็จและยั่งยืน หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจ
สิ่งเหล่านี้ เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ก็หวังว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะตระหนัก และร่วมผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล และจากนี้ไป ขอให้เลิกตอบคำถามสื่อมวลชนว่า
"ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr