วันที่ 14 ก.ย.66 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุว่า...
[ การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือน ]
การจ่ายเงินเดือน 2 ครั้งต่อเดือน เป็นรายสองสัปดาห์ แทนรายเดือน หากพิจารณาในเชิงคณิตศาสตร์ ดูเหมือนจะไม่มีปัญหานะครับ
สมมติว่า เริ่มมาตรการนี้ในวันที่ 1 ม.ค. 67 วันที่ 31 ธ.ค. 66 ก็ยังรับเงินเดือนเต็มเดือนอยู่ ถ้าต้องจ่ายหนี้ในงวดวันที่ 1 ก.พ. ก็ไม่น่าจะมีปัญหา วันที่ 15 ก.พ. เงินเดือนเข้าครึ่งหนึ่ง ก็สะสมไว้ เผลอๆ สามารถเอาไปลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เพื่อออกดอกออกผลได้ด้วยซ้ำ แม้จะไม่มากนักก็ตาม พอวันที่ 28 ก.พ. เงินเดือนเข้าอีกครึ่งหนึ่ง ก็นำมาสมทบกัน ก็น่าจะจ่ายหนี้ในงวดวันที่ 1 มี.ค. ได้ ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาครับ
มีงานวิจัยชี้ด้วยซ้ำไปว่า การออกเงินเดือนบ่อยขึ้น ช่วยให้ลดการเป็นหนี้บัตรเครดิตลง ช่วยรัดเข็มขัดในการใช้จ่าย แต่ต้องแลกมาด้วยความกังวลใจในการจัดการการเงิน [1] แต่บางงานวิจัยก็ระบุว่า การจ่ายเงินเดือนถี่ขึ้น จะทำให้ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงลดลง และทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น [2] เอาเป็นว่าก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา และเหมือนจะเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ
แต่ที่ทำให้เกิดปัญหา ก็คือ การปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 ครั้งต่อเดือน นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการใช้เงินของข้าราชการ และอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยครับ ซึ่งพออยู่ดีๆ ก็มีข้อสั่งการว่าจะเปลี่ยนโดยที่ยังไม่มีรายละเอียดที่ครบถ้วน ไม่มีการทานสอบความต้องการของข้าราชการ และไม่มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกันให้สิ้นข้อสงสัยเสียก่อน ข้าราชการจำนวนไม่น้อย จึงเกิดความไม่สบายใจขึ้นครับ
1) ข้าราชการที่เป็นหนี้สหกรณ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ ทางสหกรณ์พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นหัก 2 งวดต่อเดือน ตามงวดการจ่ายเงินเดือนหรือเปล่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลทำให้การคำนวณดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปด้วย
หนี้สหกรณ์ หรือค่างวดใดๆ ที่หักชำระจากเงินเดือน หากยังคงหักแบบงวดเดียวตอนปลายเดือน เงินเดือนครึ่งหนึ่งที่เหลือ ก็อาจจะไม่พอหัก และสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับวางแผนการใช้จ่าย เงินเดือนครึ่งแรกที่ได้รับมาก่อน ก็อาจจะเหลือไม่พอ ที่จะเอามาสมทบเพื่อชำระหนี้ตอนสิ้นเดือนได้
2) เรื่องนี้ผมคิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมาไตร่ตรองดูว่า ผลที่ได้จากการจ่ายเงินเดือน 2 ครั้งต่อเดือน นั้นคุ้มค่ากับภาระงานด้านธุรการ และงาน Payroll ที่เพิ่มเป็น 2 เท่าหรือไม่ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารของข้าราชการ ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้ผมค่อนข้างกังวล เพราะเป็นภาระด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย ผมอยากให้นายกลองสอบถามความคิดเห็นของข้าราชการให้รอบคอบก่อน จะดีกว่าไหมครับ
และถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยเหลือข้าราชการที่ตรงจุด ผมคิดว่าในระยะสั้น ควรออกนำเอาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย การหักเงินเดือนเงินบําเหน็จบํานาญข้าราชการเพื่อชําระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 มาเป็นแนวทางในการออกระเบียบใหม่เพื่อบังคับใช้กับข้าราชการทุกคน รวมทั้งตำรวจ และทหาร เพื่อให้การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ หรือหนี้เงินกู้สวัสดิการ ต้องเหลือเงินเดือน เพื่อให้ข้าราชการใช้ในการดำรงชีวิตไม่น้อยกว่า 30% เพราะปัจจุบันมีข้าราชการจำนวนมาก ถูกหักเงินเดือน จนเงินเดือนเหลือน้อยมากจนน่าตกใจ
ลองสอบถามข้าราชการดูได้ครับ โดยเฉพาะข้าราชการครู ตำรวจ และทหาร ว่าแต่ละเดือน ถูกหักเงินเดือนไปใช้หนี้สหกรณ์เท่าไหร่ และเหลือเงินเอาไว้ใช้จ่ายเท่าไหร่ ท่านนายกจะทราบครับว่า ปัญหานี้หนักหนาสาหัสจริงๆ และถ้าแก้ได้ผมเชื่อว่าข้าราชการทั้งประเทศจะชื่นใจมากๆ เลยครับ
อ้างอิง:
[1] https://www.sciencedirect.com/.../abs/pii/S0304405X21005080
[2] https://consumerresearcher.com/pay-frequency