สนค.เผยไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว คาดปี 83 ผู้สูงวัยจะเพิ่มเป็น 20.4 ล้านคน สัดส่วน 31.3% ของจำนวนประชากร วิเคราะห์พบความท้าทายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพียบ ทั้งผลกระทบด้านรายได้ สวัสดิการ แรงงาน ความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไป แนะรัฐ-เอกชนเตรียมรับมือ กำหนดนโยบายด้านการทำงาน รายได้ผู้สูงอายุ สวัสดิการที่เพียงพอ และการเข้าถึงสินค้าและบริการ
 
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วในปี 2564 โดยมีจำนวนประชากรผู้สูงวัย 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ และได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งคาดการณ์ว่า ในปี 2583 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยมากถึง 20.4 ล้านคน สัดส่วน 31.3% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในประเทศให้ขยายตัวมากขึ้นจากความสามารถในการสร้างรายได้ที่ลดลง สัดส่วนกำลังแรงงานในประเทศที่ปรับตัวลดลง รวมถึงผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร และภาคเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยการดำเนินการร่วมกันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือ แก้ปัญหาและหาแนวทางป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

สำหรับปัจจัยที่ทำให้กลุ่มประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และการมีอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ นำไปสู่การขาดสมดุลระหว่างสัดส่วนประชากรวัยแรงงานและประชากรสูงอายุ ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในอีกหลายมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น รายได้ที่ลดลงจากความสามารถในการประกอบอาชีพที่ลดลงและจำกัดมากขึ้น โอกาสในการขยายการผลิตที่จะถูกจำกัดจากขนาดของกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้จากภาษีที่ลดลงจากจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง รายจ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการของรัฐที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จะยิ่งทวีความกังวลว่า กลุ่มผู้สูงอายุจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นตามสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปรับตัวไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยีมากกว่ากลุ่มอื่น
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความท้าทายด้านสวัสดิการ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลย่อมปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประเทศจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสัดส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในด้านอื่นที่อาจจะได้รับการจัดสรรในสัดส่วนที่ลดลงเพื่อชดเชยกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุให้มีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสม
 
ขณะเดียวกัน ยังมีความท้าทายต่อตลาดแรงงาน เพราะการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุจะทำให้โครงสร้างแรงงานของประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยสัดส่วนประชากรวัยทำงานโดยรวมจะลดลง ส่งผลต่อกำลังการผลิตและการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมกันนี้ ยังก่อให้เกิดความต้องการด้านสาขาอาชีพในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2564 ธนาคารโลก ได้คาดการณ์ถึงโครงสร้างแรงงานไทย ในช่วงปี 2564-2573  โดยจำนวนแรงงานที่จะลดลงในอนาคตนั้น จะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 0.86 ซึ่งการลดลงของศักยภาพการเติบโตในภาพรวมย่อมหมายถึงโอกาสที่ประชากรในแต่ละกลุ่มจะมีรายได้เติบโตขึ้นย่อมลดลงตามไปด้วย
 
ส่วนความท้าทายอื่น ๆ เช่น ความท้าทายต่อตลาดสินค้าและบริการ นอกเหนือจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานแล้ว ในด้านของความต้องการสินค้าและบริการ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาทิ สินค้าอัจฉริยะ (Smart products) ที่ตอบโจทย์ของผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านการใช้งานและมีภาพลักษณ์สวยงาม เช่น บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่สั่งการด้วยเสียง (Voice Control) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-driving car) หุ่นยนต์อัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์ออกกำลังกาย ธุรกิจบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อาหารสุขภาพ และสินค้าไลฟ์สไตล์สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น       
 
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยดังกล่าว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศและเพื่อให้ประเทศได้ดำเนินไปในทิศทาง
ที่เหมาะสม และรักษาระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเตรียมพร้อมต่อการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยจะต้องมีการกำหนดนโยบายด้านการทำงาน นโยบายด้านรายได้ของผู้สูงอายุ นโยบายด้านสวัสดิการ และนโยบายด้านการค้าสินค้าและบริการ
 
สำหรับรายละเอียดนโยบายด้านการทำงาน จะต้องเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับผู้สูงอายุ ทั้งในแง่ของการขยายอายุ การทำงานและการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปทางเศรษฐกิจและความเหมาะสมกับศักยภาพของผู้สูงอายุ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเกื้อหนุนในการทำงาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดแรงงานจากกลุ่มประชากรเพศหญิงและแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ เพื่อปิดช่องว่างแรงงานที่หายไป
 
โดยนโยบายด้านรายได้ของผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการกระจายรายได้ที่รวดเร็วและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านการส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันของระบบสวัสดิการ ระบบประกันสังคมและระบบเบี้ยยังชีพอย่างเป็นระบบ เพื่อลดต้นทุนและขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน สร้างแรงจูงใจในการทำงานและโอกาสในการประกอบอาชีพในวัยเกษียณผ่านการจัดอบรมฝึกทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพโดยให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงสร้างความพร้อมทางด้านการเงินผ่านการจูงใจการออมเงินเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ 
 
ขณะที่นโยบายด้านสวัสดิการ ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมเพียงพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น นอกเหนือจากโครงการหลัก เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือบำนาญต่างๆ และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภาครัฐควรมีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะและส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพเพื่อให้ประชากรทุกวัยหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในระยะยาวและลดความเสี่ยงด้านการรักษาพยาบาลในอีกทางหนึ่ง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในสังคม
 
ส่วนนโยบายด้านการค้าสินค้าและบริการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้น โดยการควบคุมมาตรฐานและราคาของสินค้าและบริการในกลุ่มที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุให้เหมาะสม และพัฒนาช่องทางการขายสินค้าให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 2) การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับการค้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ เช่น การอบรมทักษะการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ การหาช่องทางให้กลุ่มประชากรสูงอายุสามารถทำงานไปได้ตลอดทั้งชีวิต รวมถึงการสนับสนุนวิสาหกิจที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมทำงานหรือผลิตสินค้าและบริการที่มีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต