ครม.เศรษฐา1มีมติมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน ลดไฟเหลือ  4.10 บาท ลดดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ด้าน"เสรี"หนุนรบ.ตั้งกก.ศึกษาทำประชามติแก้รธน. เหตุต้องมีเจ้าภาพทำงาน แนะอย่าให้คนเห็นต่างเข้าร่วม หวั่นเดินหน้าไม่ได้ ธรรมนัสเผยยังไม่แต่งตั้งขรก.การเมือง รอพรรคคัดสรร ยันประวิตรยังไม่ลาออกหัวหน้า-ส.ส. 

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนัดแรก ของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดยหลังการประชุม นายเศรษฐาได้แถลงมติที่ประชุมครม.หลายเรื่อง ได้แก่ 1.การจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบ 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2567 เพื่อให้สมพระเกียรติ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม
    
 2.เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญปี 2560 เห็นชอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ และใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
   
  3.วีซ่าฟรี หรือยกเลิกการขอวีซ่าเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เนื่องจากประเทศคาซัคสถานนั้นอยู่ในทวีปยุโรป ที่มีภาวะฤดูหนาวรุนแรง และมีปริมาณนักท่องเที่ยวคาซัคสถานที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยมากเรื่อยๆ โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 25 ก.ย.66 - 29 ก.พ.67 เป็นการยกเว้นชั่วคราวเพื่อดูผลกระทบต่างๆ ก่อนพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งฝ่ายความมั่นคง ททท. ท่าอากาศยาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนมีความพร้อม
    
 4.ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อดึงศักยภาพของประชาชน เพื่อเสริมสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้ประชาชนคนไทยทุกคน 5.การพักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก ระยะเวลา 3 ปี 6.เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดของมาตรการอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป เนื่องจากยังต้องต้องมีการแก้ไขระบบหลายอย่าง เชื่อว่ามาตรการนี้จะบรรเทาทุกข์ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย จะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน
   
  7.ลดค่าไฟฟ้า 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จากเดิมที่ราคา 4.45 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง โดยเริ่มรอบบิลก.ย.นี้ เป็นต้นไป 8.ลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะเริ่มต้นได้วันที่ 20 ก.ย.นี้ ส่วนเบนซินที่ประชุมวันนี้มีการพูดคุยกัน แต่จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณาถึงกลุ่มผู้เดือดร้อน คาดว่าจะมีมาตรการออกมาในภายหลัง
   
  ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดที่ประชุมครม.นัดแรก เห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 ก.ย. 31 ธ.ค.66 ซึ่งจะเป็นหนึ่งกลไกในการช่วยให้ราคาน้ำมันปรับลดลงเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ ส่วนการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้ยังรอการพิจารณาในระยะต่อไป
   
  ส่วนการลดค่าไฟฟ้าจะปรับลดลงโดยในงวดสุดท้ายของปีนี้คือ ค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.66 จะปรับลงมาอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ถึงสิ้นปี 66 เช่นกัน และที่ต้องทำควบคู่กันคือการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ปรับลดราคาในอนาคต เบื้องต้นอาจจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดทั้งหมดกระทรวงพลังงานจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป
      
 เรื่องของไฟฟ้าสิ่งที่ทำเดิมจากรัฐบาลก่อน จริง ๆ ยังมีกลไกอื่นที่ต้องคุยกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเป้าหมายที่ทำยังสามารถดูแลได้อีก และลดราคาค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่าสามารถทำได้อีก นายจุลพันธ์ กล่าว 
    
 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลตั้ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ว่า เรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่การยื้อเวลาหลังจากที่รัฐบาลระบุว่าในการประชุมครม.นัดแรก จะมีแนวทางการออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ  และหลังจากที่นายเศรษฐากล่าวกับรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นคำพูดที่คลี่คลายความขัดแย้งลงได้ ส่วนการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้น ถือว่าเป็นหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพในการเริ่มดำเนินการ
    
 เมื่อถามว่า คณะทำงานศึกษาแนวทางทำประชามตินั้นควรประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง นายเสรี กล่าวว่า ตนมองว่าไม่ควรมีกลุ่มที่เห็นต่างๆ เพราะอาจทำให้การดำเนินงานเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นการศึกษาเรื่องดังกล่าวควรหาทางให้เดินหน้าได้ ต้องยอมรับว่าประเด็นที่เกิดขึ้นอาจจะสร้างความพอใจหรือไม่พอใจและแต่ละพรรคการเมืองอาจจะคิดเห็นไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการทำงานต้องคิดเพื่อให้ทำอย่างไรให้เดินหน้าให้ได้
   
  เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มประชาชน 2.5แสนคน เสนอคำถามประชามติให้รัฐบาลพิจารณา ถือว่าเป็นพันธกับรัฐบาลหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องรับไปพิจารณาด้วย เพราะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ส่วนประเด็นที่ไอลอว์ร่วมสนับสนุนคำถามประชามติให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว
    
 ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ว่า ยังไม่มี เมื่อถามถึงการแบ่งงานภายในกระทรวงเกษตรฯ แก่รัฐมนตรีช่วยว่าการ นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ก็ยัง วันนี้เพียงตนจะไปมอบนโยบายให้กับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะมีการประชุมที่กรมชลประทาน เมื่อถามย้ำถึงตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของพรรค ที่กำลังคัดสรรบุคคลเหมาะสมให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในตำแหน่งที่เรามีโควตาอยู่
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหลายพรรคการเมืองดูแลจะประสานการทำงานได้เรียบร้อยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค และยังไม่ลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า "ผมยังยืนยันว่าท่านหัวหน้าพรรคยังคงดำรงตำแหน่งการเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตรได้ให้คำแนะนำในการทำงานหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ก็ยังไม่ได้เจอท่าน เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐได้ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า ยังครับ เรื่องนี้ต้องมีการหารือกันก่อน และยังไม่ได้มีการหารือกัน เมื่อถามอีกว่า อยากให้รองโฆษกรัฐบาลเป็นสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องนี้เนื่องจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องหารือก่อน
   
  เมื่อถามว่า เห็นอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เนื่องจากเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาล เมื่อถามย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐ เห็นอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพูดคุยเป็นวาระแรกในการประชุมครม. ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนขอดูรายละเอียดก่อน เพราะยังไม่เห็นประเด็นที่จะแก้ในแต่ละมาตรา เรื่องพวกนี้ต้องดูก่อน
    
 วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของส.ส.พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นจำนวน 54 คน ขอให้วินิจฉัยว่า นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในขณะนั้นยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างแท้จริง ทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยศาลได้กำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 20 ก.ย.เวลา 09.30 น