วันที่ 13 กันยายน 2566 นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  กล่าวถึงความคืบหน้าผลการศึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่ง กทม.จะต้องชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ว่า จากการศึกษาภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ กทม.เสียหายน้อยที่สุด พบว่าปัจจุบัน กทม.มีหนี้ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.หนี้โครงสร้างหลัก ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กทม.รับมาตามคำสั่ง คสช. ล่าสุดปีนี้เสียดอกเบี้ยประมาณ 460 ล้านบาท 2.ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคต มีดอกเบี้ยล่าสุดประมาณ 480 ล้านบาท แต่ส่วนนี้ กทม.ยังไม่ได้รับหนี้มา โดยสภากทม.ตัดงบชำระหนี้ส่วนนี้ไป 3.ส่วนการจ้างเดินรถ (O&M) อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก กทม.ขออุทธรณ์ หลังจากศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ กทม.ชำระหนี้ส่วนนี้ โดยให้เหตุผลว่า กทม.มีผลผูกพันในการที่ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินการ

 

นายนภาพล กล่าวว่า จากการอุทธรณ์ดังกล่าว คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้กลับมาศึกษาประเด็นเพิ่มเติม โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายให้เคทีดำเนินการนั้น เคทีอาจดำเนินการเกินกว่าที่ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายหรือไม่ซึ่งประเด็นนี้จะนำขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป ส่วนค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ปัจจุบันครบสัญญาถึงกำหนดชำระแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท หาก กทม.ไม่ชำระหนี้ ต้องเสียดอกเบี้ยประมาณ 3 ล้านบาทต่อวันหรือเดือนละประมาณ 90 ล้านบาท หลังจากครบสัญญา ปัจจุบัน กทม.ต้องเสียดอกเบี้ยส่วนนี้กว่า 3-4 พันล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมการวิสามัญฯสรุปแนวทางให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำข้อสรุปไปเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ก่อนนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการดำเนินการต่อไป

 

นายนภาพล กล่าวว่า เบื้องต้น คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อเสนอและข้อสังเกตจากผลการศึกษาเพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนำไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1.ขณะนี้ กทม.กำลังต่อสู้ในศาลปกครองสูงสุด ในเรื่อง O&M เนื่องจาก ทั้ง O&M และ E&M เคทีได้รับหนังสือมอบหมายให้ดำเนินการจากผู้ว่าฯกทม.ฉบับเดียวกัน จากนั้น เคทีได้ไปทำสัญญาทั้งส่วน O&M และ E&M กทม.จึงตั้งข้อสังเกตเพื่อต่อสู้ในชั้นศาลว่า การที่เคทีถือหนังสือมอบหมายจากผู้ว่าฯกทม.ฉบับเดียว สามารถมีอำนาจในการดำเนินการขนาดนั้นหรือไม่ โดยหนังสือมอบหมายมีจุดประสงค์ให้ไปดูแลโครงการ แต่เคทีกลับไปเซ็นสัญญาที่มีหนี้ผูกพันจำนวนมาก จึงสงสัยว่าเคทีมีอำนาจในการเซ็นสัญญาด้วยหรือไม่ ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวกำลังใช้ต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด หากกทม.จ่ายหนี้ส่วนนี้ไปก่อน อาจเท่ากับเป็นการสละการต่อสู้ และยอมรับหนี้ในส่วน E&M กทม.จึงยังไม่ได้จ่าย จึงเสนอให้ผู้บริหารกทม.เจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เรื่องขอทำสัญญาใหม่ แยกระหว่างสัญญา E&M และ O&M เบื้องต้นได้เจรจาแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจจาก BTSC 2.พิจารณาตามสัญญาดังกล่าว ว่า กทม.สามารถดึงโครงการจากเคทีมาบริหารจัดการเองได้หรือไม่ 3.ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีมติอุดหนุนโครงการทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือกทม.โดยตั้งข้อสังเกตว่า โครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐสนับสนุน 100% แต่เหตุใด ไม่อุดหนุน กทม. ซึ่งเป็นขนส่งสาธารณะเหมือนกัน โดยเฉพาะส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่นอกเขตกทม.ทั้งหมด เหตุใด กทม.ต้องรับภาระตรงนั้น โดยรัฐไม่ลงทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้ กทม.จัดการบริหารรวมถึงส่วนคูคต-แบริ่งด้วย ซึ่งอยู่ในเขตปทุมธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคำตอบจากคณะรัฐมนตรี หากมีการสนับสนุนช่วยเหลือ กทม.จะลดภาระได้หลายหมื่นล้านบาท

 

นายนภาพล กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวหากไม่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 19 กันยายนนี้และจะนำเข้ารายงานต่อสภากรุงเทพมหานครรับทราบ เพื่อให้ผู้บริหารกทม.นำแนวทางข้อสรุปที่ได้ไปใช้พิจารณาปลดภาระหนี้ต่อไป อย่างน้อยในส่วนดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านบาท หากชำระได้เร็วจะลดภาระได้มากกว่า เพราะหากกทม.ถูกฟ้องร้องอีกครั้งดอกเบี้ยจะเพิ่มมากกว่าวันละ 3 ล้านบาท หรืออาจถึง 7.5% ต่อปี