รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์จัดเตรียมสถานที่ฝังกลบทำลาย “หมูเถื่อน” 161 ตู้คอนเทนเนอร์ในคดีที่ดีเอสไอตรวจยึดและเก็บรักษาของกลางไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย จัดเตรียมสถานที่ไว้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว หากได้รับมอบของกลางจากดีเอสไอ พร้อมดำเนินการฝังกลบทำลายใน 5 วัน

วันที่ 13 ก.ย.66 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมปศุสัตว์จัดเตรียมพร้อมสถานที่เพื่อฝังกลบทำลายซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้าหรือ “หมูเถื่อน” ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ให้พร้อมใช้เป็นที่ฝังกลบทำลายซากชิ้นส่วนหมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 4,363,118 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้เป็นคดีพิเศษเลขที่ 59/2566 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และอยู่ระหว่างรวบรวมสำนวนและวัตถุพยานให้ครบถ้วน เพื่อรอการส่งมอบของกลางซากชิ้นส่วนสุกรให้กับกรมปศุสัตว์นำไปทำลาย

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวย้ำว่า การป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นนโยบายหลักเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ ปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ถูกแทรกแซงกลไกลตลาดอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับสถานที่ที่กรมปศุสัตว์รายงานว่า ได้จัดเตรียมไว้คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว 

ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การดำเนินการขนย้าย “หมูเถื่อน” 161 ตู้คอนเทนเนอร์มาทำลาย จะมีคณะทำงานเพื่อดำเนินการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยคณะทำงานจะร่วมกันดำเนินการขนส่งตู้สินค้าโดยรถบรรทุก ซึ่งทุกคันจะต้องผ่านจุดชั่งน้ำหนักศุลกากร ตู้คอนเทนเนอร์มีการติด SEAL ล๊อคทุกตู้เพื่อป้องกันการเปิดตู้ มีการบันทึกน้ำหนักและหมายเลขตู้พร้อมบันทึกวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดินทางขนย้าย มีรถตำรวจทางหลวงนำขบวนขนย้ายตู้สินค้าจนถึงสถานที่ฝั่งทำลาย พร้อมส่งมอบหลักฐานและลงนามบันทึกให้กับทีมทำลาย ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมปศุสัตว์จนเสร็จสิ้นภารกิจ คาดว่า จะดำเนินการขนย้ายและฝังกลบทำลายแล้วเสร็จภายใน 5 วัน

สำหรับขั้นตอนการฝังทำลาย มีคณะกรรมการทำลายซากสุกร แต่งตั้งโดยกรมปศุสัตว์ ทำหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดตู้สินค้าซากสุกร พร้อมตัด SEAL ก่อนนำซากไปฝังทำลาย หลุมฝังซากมีจำนวน 6 หลุม แต่ละหลุมมีความยาว 150 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ความลึก 4 เมตร ปูด้วยพลาสติก PE (หนา 0.3 มิลลิเมตร) ทุกหลุมเพื่อป้องกันของเสียจากซากสัตว์ที่อาจปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ การฝังซากจะใช้วิธีการยกตู้คอนเทนเนอร์เทซากออกจากตู้ โดยใช้เครนยกหัวท้าย ก่อนฝังซากจะโรยด้วยปูนขาวที่ก้นหลุม เมื่อซากเต็มหลุม พ่นทับด้วยน้ำยา EM และใช้แบคโฮและแทรกเตอร์ฝังดินกลบหลุม โดยทุกหลุมติดตั้งท่อระบายแก๊สจากซากที่เน่าเปื่อยตามธรรมชาติ โดยวิธีการฝังกลบทำลาย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ 

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์พร้อมรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกวาดล้างเนื้อหมูผิดกฎหมายที่แทรกซึมอยู่ในประเทศ และกัดกร่อนสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยในวงกว้าง ที่ผ่านมาได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมศุลกากร และหน่วยงานชายแดน ร่วมกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และป้องกันเชื้ออหิวาต์แอฟริกาสุกร หรือ ASF ที่อาจปนเปื้อนมากับชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งชิ้นส่วนสุกรที่ลักลอบนำเข้า ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ อาจมีสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง หรือเชื้อโรคอื่นที่เป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและผู้บริโภค

สำหรับผลการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายในการลักลอบนําซากสุกร เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ของกรมปศุสัตว์ (ล่าสุดวันที่ 1 กันยายน 2566) ทั้งในส่วนของเนื้อสุกร เครื่องใน และชิ้นส่วน รวม 238 คดี จำนวนรวม 1,142,487 กิโลกรัม มูลค่ารวม 190,426,840 บาท มีการทำลายของกลางแล้ว 202 คดี จำนวนรวม 1,049,920 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 175,216,249 บาท

หากประชาชน ต้องการความช่วยเหลือหรือการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส การกระทำความผิดกฎหมาย ด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งผ่าน application DLD 4.0 แอปฯใช้ง่าย ได้ประโยชน์จริง สามารถโหลดได้ทั้ง Android และ iOS