นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม TPM Open House เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานและลูกจ้างการรถไฟฯ ที่ได้รับการอบรมหลักสูตร (Total Productive Maintenance) TPM ได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน การจัดบูธกิจกรรมต่าง ๆ และเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน หรือบุคคลภายนอก ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงาน/โรงซ่อม ที่เป็นพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง หลังจากที่ได้นำระบบ TPM มาประยุกต์ใช้งาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่มุ่งเน้นให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน เพื่อพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าและพี่น้องประชาชนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ฝ่ายการช่างกล การรถไฟฯ  ได้มีการนำระบบ TPM (Total Productive Maintenance) ซึ่งเป็นรูปแบบการบำรุงรักษาที่เป็นระเบียบ หรือที่เรียกว่า การบำรุงรักษาแบบทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม เข้ามาใช้ภายในโรงซ่อมรถจักรของการรถไฟฯ โดยการปรับปรุงและจัดระเบียบพื้นที่ภายในโรงงาน อาทิ การทาสี ตีเส้นพื้นที่ภายในโรงซ่อม การทำความสะอาด การจัดทำตารางบันทึกอุบัติการณ์ การสำรวจอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การสำรวจเครื่องจักรและพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย การติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องป้องกันที่ตัวเครื่องจักรอุปกรณ์ การตรวจสอบเครื่องจักรและงานก่อนส่งมอบ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลเครื่องจักรและล้อเลื่อน ตลอดจนสามารถยืดอายุการใช้งานไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนถึงช่วงเวลาที่กำหนด

"ที่สำคัญการนำระบบ TPM มาใช้งาน ได้สนับสนุนภารกิจฝ่ายการช่างกลให้สามารถปฏิบัติงาน และสร้างมาตรฐานการซ่อมและการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนให้มีสภาพสมบูรณ์ เพียงพอต่อการใช้งาน  การขับเคลื่อนและการกู้ภัยเหตุอันตรายที่เกิดจากการเดินรถ ทั้งในส่วนของงานซ่อมบำรุงรถจักร รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า สามารถซ่อมรถจักร และล้อเลื่อนต่าง ๆ มาให้บริการ ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการให้บริการแก่ประชาชน และสามารถนำส่งผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมายได้อย่างปลอดภัย ตรงเวลา"

นายเอกรัชฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้มีการจัดกิจกรรม TPM Open House ที่โรงงาน/โรงซ่อมต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2561 – ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ประกอบด้วย 1.โรงงานอุตรดิตถ์ 2.โรงรถจักรอุตรดิตถ์ 3.โรงรถจักรหาดใหญ่ 4.โรงรถจักรนครราชสีมา 5.โรงงานนครราชสีมา 6.โรงรถจักรทุ่งสง 7.โรงงานทุ่งสง 8.โรงรถจักรลำปาง 9.โรงรถพ่วงแก่งคอย 10.โรงรถพ่วงชุมพร 11.โรงรถพ่วงปากน้ำโพ  และหลังจากนี้ การรถไฟฯ จะขยายการทำ TPM ในโรงงาน/โรงซ่อมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้ครบทุกแห่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลเครื่องจักรและล้อเลื่อน ตลอดจนสามารถยืดอายุการใช้งานไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนถึงช่วงเวลาที่กำหนด และเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ให้กับประชาชนต่อไป