การอบรมเชิงปฎิบัติการ “เข็นบทขึ้นภูเขา” โครงการพัฒนากำลังคนด้านการเขียนบทภาพยนตร์ เพิ่มมูลค่าภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก จัดขึ้นที่โรงแรม พาโค่ โบนันซ่า เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 3-8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
ความร่วมมือจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และ ผศ.ดร.ปรีชา สาคร ผู้ร่วมโครงการ โดยมี ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้อำนวยการผลิต เป็นผู้อบรมหลัก และผู้กำกับหนังมืออาชีพร่วมด้วย อย่าง ธนิตย์ จิตนุกูล , ไพโรจน์ สังวริบุตร , บัณฑิต ทองดี และ ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล เป็นต้น
ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวว่า บพค. เราเป็นหน่วยสร้างกำลังคนที่มีทักษะเฉพาะทาง แล้วทำไมถึงมาโยงเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้ ว่าเรามองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสจะสามารถสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่ดีสู่ตลาดโลกได้ แต่ปัญหาก็คือเราขาดคนที่มีทักษะด้านการเขียนบท เพราะฉะนั้นโอกาสหนึ่งที่จะสามารถทำให้เราพาประเทศที่จะไปยืนสู่ตลาดโลกได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้เขียนบทที่มีทักษะ และมีประสบการณ์
เพราะฉะนั้นโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเป็นการเอาผู้มีประสบการณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดประสบการณ์และชี้เป้า บางประเด็นที่นักเขียนบทไทยควรต้องมี ทักษะตรงไหนเพิ่มเติมหรือควรต้องมี ข้อจำกัดหรือข้อเฉพาะตรงไหนที่เราต้องสร้างเพิ่มทักษะนั้น ๆ เข้าไป ให้กับนักเขียนบทไทยเพื่อไปพัฒนาบทภาพยนตร์ไปสู่ตลาดโลกได้
ปรัชญา ปิ่นแก้ว กล่าวว่า โครงการนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จาก บพค. เป็นโครงการวิจัยในการพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์ของไทย ในการที่จะส่งออกสู่ตลาดโลก สร้างผลงานเขียนบทภาพยนตร์สู่ตลาดโลก เนื่องจากว่าประเทศไทยเราเอง ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มีจุดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากที่สุดก็คือการทำบทภาพยนตร์
จะเห็นว่าในวงการภาพยนตร์ไทย ในการเขียนบทภาพยนตร์จะมีคนเก่งอยู่บ้าง แต่จำนวนปริมาณยังไม่พอ อย่างที่เราได้เห็นในภาพรวมของหนังไทย มีคนเก่งไม่มากพอที่จะทำให้ภาพรวมของหนังไทยเราดูดี ดูพัฒนาได้ ก็เลยต้องพัฒนาคนเขียนบทที่มีอยู่แล้วให้มีศักยภาพมากขึ้น
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่พวกเราสอนการทำภาพยนตร์อยู่แล้ว มักได้ยินเสียงบ่นตลอดเวลาว่า วงการหนังไทยไม่ไปไหนสักที ถกกันไปถกกันมากับอาจารย์อุ๋ย (ปรีชา สาคร) จึงตั้งคำถามว่าตกลงปัญหาภาพยนตร์ไทยอยู่ตรงไหน ถ้าอยากจะแก้ปัญหา ฉะนั้นการแก้ปัญหาจะแก้ด้วยความต้องการไม่ได้ ต้องผ่าน กระบวนการวิจัย เมื่อเป็นวิจัย เราต้องมีทุนวิจัย
จึงขอทุนวิจัยจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะผ่าน บพค. ถือว่าเป็นกองกำลังหนุนที่ดีมาก เพราะเมื่อตั้งคำถามว่าถ้าอยากจะแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทุกคนพูดชี้มาที่เป้าเดียวกันหมดเลย ก็คือบทภาพยนตร์มันไม่ดี การที่มีบทไม่ดี ทำให้หนังไม่ดี บทนี่ทำให้โปรดักชั่นกาก ไปไหนต่อไหนได้ แปลว่าเราต้องตั้งลำให้ดี เมื่อวิจัย มันนำพาจนมาถึงวันนี้ เราจะแก้ปัญหาที่บทภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ให้คนที่จะมาแก้ปัญหาให้เรา ก็ไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นคนในวงการหนัง เราจะเวิร์คช็อปบทภาพยนตร์ มันไม่ง่าย จึงตั้งชื่อโครงการแบบเท่ๆ ว่าเข็นบทขึ้นภูเขา เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ถ้าเมื่อไหร่ บทมันถึง บทยอดดี มันจะขายได้ งานวิจัยมันจะกินได้ มันจะทำให้เกิด การพัฒนาจริง
ทั้งนี้ สำหรับผู้ร่วมอบรม 30 คน จากผู้ถูกคัดเลือกจากไอเดียทั่วประเทศกว่าร้อยราย เผยรู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสที่ดีมาก ๆ ได้มีโอกาสมาฟังบรรยายของปรัชญา ปิ่นแก้ว สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเขียนบทได้ บรรยากาศการอบรมก็สนุกดี บางอย่างเป็นความรู้ที่ยังไม่รู้มาก่อน