นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
วันที่ 11 กันยายน 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โอกาสนี้รับฟังบรรยายสรุปข้อมูลโครงการ เยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการ พร้อมกับพบปะประชาชน และผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฯ โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา ให้ใช้การได้โดยเร็ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 และมีพระราชกระแส ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ และน่าจะตรวจระบบ อ่าง, เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป
สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ประกอบด้วย ปรับปรุงทำนบดินพร้อมอาการประกอบ กว้าง 9 เมตร ยาว 1,165 เมตร สูง 11 เมตร ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น ขนาด 6.00*4.50 เมตร 2 ชั้น จำนวน 3 ช่อง ระบายน้ำสูงสุด 250 ลบ.ม.ต่อวินาที ปรับปรุงอาคารท่อส่งน้ำฝั่งขวาและอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ขนาดท่อ 1.20 เมตร ยาว 95 เมตร ระบายน้ำสูงสุด 8.127 ลบ.ม.ต่อวินาที ปรับปรุงอาคารท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย ขนาดท่อ 1.00 เมตร ยาว 115 เมตร ระบายน้ำสูงสุด 5.200 ลบ.ม.ต่อวินาที และขุดลอกอ่างเก็บน้ำ จำนวน 600,000 ลบ.ม.
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำฯ มีความจุ 3.18 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 2 ตำบลในอำเภอเมือง ได้แก่ ตำบลพังขว้างและตำบลขมิ้น รวม 4 หมู่บ้าน 1,831 ครัวเรือน ประชากร 5,209 คน พื้นที่ชลประทาน 3,000 ไร่ โดยอยู่ในการดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เข้าไปส่งเสริมความรู้การใช้น้ำ และการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร พร้อมมอบปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรในพื้นที่ จากการขยายผลมีกลุ่มเกษตรกรต้นแบบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จำนวน 3 ราย และศูนย์เรียนรู้ของโรงเรียนจำนวน 2 โรงเรียน
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.