วันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเรื่องการยกระดับการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบในกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดการศึกษาภายใต้งบประมาณ ปี 2567 พร้อมชี้แจงรายละเอียดและแนวทางดำเนินการโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ของโรงเรียนสังกัดกทม.หลังจากไม่ได้งบประมาณ โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ร่วมแถลง
นายศานนท์ กล่าวว่า แนวทางจัดการการศึกษาภายใต้งบประมาณ ปี 2567 จะประกอบด้วย 4 ภาระกิจดังนี้ 1. ห้องเรียนปลอดฝุ่น เนื่องจาก สภาพห้องเรียนชั้นอนุบาลในปัจจุบันเป็นระบบเปิด ไม่มีกำแพงปิด มีพัดลมด้านบน 4 เครื่อง ด้านล่าง 6 เครื่อง เด็กจึงนอนในสภาพห้องที่ไม่มีการปิดกั้นป้องกันอากาศจากภายนอก จึงเป็นที่มาของโครงการห้องปลอดฝุ่น สิ่งสำคัญของโครงการคือปิดกั้นห้องให้เป็นระบบปิด ป้องกันสภาพอากาศจากภายนอก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศและฟอกอากาศ โดยมีแผนปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น 1,743 ห้อง โดยการปิดรูช่องอากาศภายในห้อง และกั้นห้องให้เป็นสัดส่วน พร้อมติดตั้งพัดลมระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ ใช้งบประมาณ 219 ล้านบาท (ไม่ได้อนุมัติงบประมาณ) รวมถึง มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 1,743 เครื่อง 437 โรงเรียน 50 เขต ใช้งบประมาณ (งบครุภัณฑ์) 52.11 ล้านบาท โดยขนาดห้องเรียนมาตรฐานทุกห้องเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 6x8 และ 8x8 หรือ 49-64 ตารางเมตร ความสูง 3.5 เมตร เป็นที่มาในการกำหนดเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 x 30,000 BTU
สำหรับค่าไฟ 437 โรงเรียน 50 เขต สำนักการศึกษาได้คำนวณไว้ 3 กรณี 1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชม. = 12.48 บาท/วัน/เครื่อง 2,995.2 บาท/ปี /เครื่อง 2.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นครึ่งวัน 4 ชม. = 24.96 บาท/วัน/เครื่อง 5,990 บาท/ปี /เครื่อง 3.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นเต็มวัน 8 ชม. = 49.92 บาท/วัน/เครื่อง 11,980.8 บาท/ปี /เครื่อง โดยได้รับงบประมาณ(งบุอดหุนนรัฐบาล) เป็นรายหัวคิด 40% ของการเรียนการสอน กทม.จะได้รับงบในหมวดนี้ประมาณ 640 ล้านบาทปัจจุบันเราใช้งบส่วนนี้อยู่ที่ 172.24 ล้านบาท ยังไม่ถึง 30% ยังมีอีกกว่า 10% ที่ยังสามารถใช้ค่าไฟตามงบอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งถ้าทำห้องปลอดฝุ่นก็จะบริหารจัดการค่าไฟให้พอกับกรอบงบอุดหนุนนี้
“ข้อมูลดังกล่าวแนบไว้ในเอกสารของบประมาณอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่ได้รับงบประมาณในปีนี้ กทม.มีแผนดำเนินการต่อ2 แนวทาง คือ 1. ผนึกรอยรั่ว พร้อมติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ ร่วมกับ ไทยพีบีเอส'และ ภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น 2. ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องวัดอากาศ โซล่าเซลล์ เครื่องกรองอากาศ เพื่อติดตามผลฝุ่น และคาร์บอนที่ลดได้ ร่วมกับเอกชนในรูปแบบ CSR โดยผู้ที่สนใจสนับสนุนติดต่อได้ที่เบอร์ 024376631 สำหรับแนวทางลดค่าไฟในระยะยาวกทม.ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง โดยการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่ให้กระทบต่อค่าใช้จ่ายของโรงเรียน อยู่ระหว่างสำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้า การออกแบบและลงทุน การติดตั้งระบบพลังงานทดแทนและประเมินส่วนลดค่าไฟฟ้า” นายศานนท์ กล่าว
นายศานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัย กทม.นำร่อง 30 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัด กทม.ระดับอนุบาลในปี 2566 เรื่องการวัดผล DSMP และ EF เพื่อเน้นให้เด็ปฐมวัยในโรงเรียนกทม.มีพัฒนาการสมวัยด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม และทักษะสมอง ซึ่งตั้งเป้าขยายผลครบ 437 โรงเรียนในปี 2567 3. เรื่อง การพัฒนากายภาพสถานศึกษา ประกอบด้วย 1. ปรับปรุง 218 รายการ เช่น หลังคาทางเดิน บังแดด สร้างสนามฟุตบอล โรงครัว ระบบไฟฟ้า โดยให้งบประมาณเขตดำเนินการ 2. ก่อสร้างอาคาร 9 รายการประกอบด้วย รร.ตั้งพิรุฬห์ธรรม เขตทวีวัฒนา รร.รุ่งเรืองอุปถัมภ์ เขตบางนา รร.หนองจอกพิทยานุสรณ์ เขตหนองจอกรร.มัธยมวัดสุทธาราม เขตคลองสาน รร.คลองปักหลัก เขตประเวศ รร.วัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) เขตคลองสามวา รร.วัดลานบุญ เขตลาดกระบัง (อาคารอเนกประสงค์) รร.วัดทิพพาวาส เขตลาดกระบัง รร.ไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน สร้างที่พักครู 8 รายการ ให้งบซ่อมแซมโรงเรียนละ 500,000 บาท
4. การปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครู โดยการเพิ่มงบค่าวัสดุอุปกรณ์เด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 100 เป็น 600 บาท/คน/ปี เพิ่มค่าอาหารเด็กและนม ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจาก 20 เป็น 32 บาท/คน/ปี และอยู่ระหว่างปรับเพิ่มค่าตอบแทน อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงจ่ายเงินตรงเวลา กำชับให้เขตจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าอาหารให้ตรงเวลา ส่วนการลดภาระงานครู มีแผนจ้างเหมาธุรการในโรงเรียนและลดงานเอกสาร พร้อมปรับเกณฑ์ รูปแบบและขั้นตอนการเลื่อนวิทยฐานะครูให้เหมาะสม เติมอัตรากำลังครู โดยเฉพาะครูปฐมวัย ครูแนะแนวและครูการศึกษาพิเศษให้เพียงพอต่ออัตรากำลังที่ว่างอยู่