ผู้ถือหุ้น KCC อนุมัติแผนปรับโครงสร้าง ตั้ง “ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง” เดินหน้าแลกหุ้น 1 หุ้น KCC ต่อ 1 หุ้น โฮลดิ้ง คาดกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นหุ้นโฮลดิ้งกลับเข้าเทรด mai ประมาณไตรมาส 2 ปี 67
นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC ผู้ดำเนินธุรกิจจัดหาและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายและการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายเพื่อจำหน่าย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 มีมติอนุมัติแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัทฯ (แผนปรับโครงสร้างฯ) และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ โดยจัดตั้ง “บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)” (Knight Club Capital Holding Public Company Limited) (บริษัทโฮลดิ้ง)
ทั้งนี้หลังได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทจะดำเนินการตามเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ของทางการ เช่น เดือนมี.ค. 2567 จะสามารถยื่นแบบคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามแบบ 69/247-1 หลัง ก.ล.ต. อนุมัติคำขอและหลังจากนั้นบริษัทโฮลดิ้งเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ จากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท โดยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 620 ล้านหุ้น มีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท คิดเป็น 310 ล้านบาท โดยวิธีแลกหุ้นในอัตรา 1 หุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทโฮลดิ้ง และคาดว่า บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2567
นายทวี กล่าวอีกว่า การยกระดับเป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1.เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ ลดข้อจำกัดด้านการลงทุน โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มบริษัทฯ เพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว 2.เพื่อให้สามารถแบ่งแยกขอบเขตการบริหารธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน โดยจะสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจบริหารสินทรัพย์เดิมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ 3.เพื่อให้สามารถขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารงานของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละธุรกิจสามารถเติบโตและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีให้กับกลุ่มบริษัทในอนาคต และ 4.เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจเนื่องจากแต่ละธุรกิจสามารถกำหนดขอบเขต หน้าที่ ความรับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละสายงานได้อย่างชัดเจน
“การยกฐานะขึ้นเป็นโฮลดิ้งจะทำให้มีความคล่องตัว สามารถลงทุนซื้อหนี้ที่ไม่ใช่เฉพาะหนี้จากหนี้สถาบันการเงินได้เท่านั้น เช่น เข้าไปซื้อหนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้หรือหนี้ที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ หนี้การค้าและหนี้หุ้นกู้ต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ธุรกิจขยายฐานได้กว้างมากขึ้น เพราะบริษัทมีความชำนาญในเรื่องของการซื้อหนี้อยู่แล้ว ชึ่งการที่ KCC ดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต AMC จะซื้อได้เฉพาะหนี้จากสถาบันการเงินเท่านั้น”นายทวีกล่าว
นายทวี กล่าวอีกว่า ในส่วนการทำธุรกิจของ KCC ช่วงครึ่งแรกปี 2566 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทมีส่วนของเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,131.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 36.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยงวด 6 เดือน และไตรมาส 2 ของปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 49.53 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.62 ล้านบาทตามลำดับ ขณะเดียวกันบริษัทก็เห็นโอกาสจากการเข้าไปประมูลหนี้ที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายที่เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในระบบขณะนี้