บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ (“ACPG”) หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ยื่นไฟลิ่งเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,041,230,000 หุ้น และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มุ่งสู่การเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของประเทศ พร้อมร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
นายไมเคิล บีแคว๊ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างครบวงจรเป็นธุรกิจหลักผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อย ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีหลักประกัน โดยการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินในประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่หลากหลายทั้งประเภทของสินทรัพย์และที่ตั้ง และ ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการขายทอดตลาด หรือการตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยจะคำนึงถึงคุณภาพของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและพิจารณาความต้องการของตลาด เพื่อให้จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ในมูลค่าที่เหมาะสม
ทั้งนี้ บริษัทมีวิสัยทัศน์เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำและเป็นทางเลือกแรกสำหรับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายแก่ลูกค้าและคู่ค้า ผ่านการให้บริการแบบครบวงจร ความสามารถและคุณภาพในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายอย่างดีที่สุด ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือหุ้น 100% ในบริษัทย่อย 2 แห่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย (1) บริษัท บริหารสินทรัพย์ อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และ (2) บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC) ซึ่งจากรายงานการประเมินอุตสาหกรรม ณ เดือน สิงหาคม 2566 โดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด กลุ่มบริษัทฯ เป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศ (ไม่รวมบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทบริหารสินทรัพย์ในเครือสถาบันการเงิน) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 5,919.8 ล้านบาท และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,350.6 ล้านบาท
“บริษัทมีทีมผู้บริหารและบุคลากรที่สำคัญซึ่งเคยมีประสบการณ์การร่วมงานกับ Joint Venture ระหว่าง General Electric Capital และ Goldman Sachs[1] อีกทั้งมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการจัดหา บริหารจัดการและสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย ประกอบกับทีมผู้บริหารของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 ปี โดยบริษัทฯ มุ่งก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำระดับประเทศผ่านการให้บริการแบบครบวงจร เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเราเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้หลักการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม”นายไมเคิลกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ล่าสุดได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,041,230,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 45.0% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ แบ่งเป็น (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 578,460,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.0% (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Pacific Investment management (Mauritius) Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 312,370,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 15.3% และ (3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย 9 Basil Pte. Ltd. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 300,120,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 14.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
โดยในเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เพื่อใช้ลงทุนในพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ในอนาคตต่อไป